ขวดพลาสติกเพท (PET) ใช้ซ้ำ เสี่ยงได้รับสารเคมีปนเปื้อน จริงหรือ ?
30 พฤศจิกายน 2566

จากกรณีที่มีการแชร์ข้อความเตือนภัยเกี่ยวกับขวดพลาสติกเพท (PET) หรือ โพลีเอธิลีน เทเรฟทาลเลต (Polyethylene terephthalate) ที่นิยมนำมาใช้ใส่น้ำดื่มหรือเครื่องดื่มต่าง ๆ ว่า หากนำขวดพลาสติกเพทมาใช้ซ้ำจะทำให้มีสารเคมีปนเปื้อนออกมา เสี่ยงเป็นอันตรายได้ เรื่องนี้จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เรามีคำตอบ มาดูกันเลย

ขวดพลาสติกบรรจุน้ำดื่ม สามารถจำแนกได้ 2 ชนิดตามรูปแบบการใช้ ดังนี้

1.  ขวดบรรจุน้ำแบบใช้ครั้งเดียว (One-way packaging) นิยมผลิตจากพลาสติก 2 ชนิด ได้แก่

1.1     Polyethylene terephthalate (PET) ลักษณะขวดขาวใส

1.2     Polyethylene (PE) ลักษณะขวดขาวขุ่น

2. ขวดบรรจุน้ำแบบเติม (Refillable bottle) นิยมผลิตจากพลาสติก  5 ชนิด คือ

2.1     Polypropylene (PE) ลักษณะขวดขาวขุ่น

2.2     High density polyethylene (HDPE) ลักษณะขวดขาวขุ่น

2.3     Polyethylene terephthalate (PET) ลักษณะขวดขาวใส

2.4     Polycarbonate (PC) ขวดใส สีฟ้าอ่อน หรือสีเขียวอ่อน

2.5     Polypropylene (PP) ขวดสีขาวขุ่น

จะเห็นว่าพลาสติกชนิดเพท (PET)  นิยมนำมาผลิตเป็นขวดบรรจุน้ำดื่ม เพราะขวดจะมีลักษณะใส มีความแข็งแรงทนทานต่อแรงกระแทกการกดอัด ทนต่อความเป็นกรดและความเย็นได้ดี  และสามารถนำมากลับมาใช้ซ้ำผ่านกระบวนการรีไซเคิลได้ โดยสามารถสังเกตได้ที่ก้นขวดมักจะเห็นเครื่องหมายลูกศรวนเป็นสามเหลี่ยมและมีเลข 1 อยู่ตรงกลาง ซึ่งปัญหาของการนำขวดพลาสติกเพทกลับมาใช้จะไม่ใช่เรื่องสารเคมีที่ปนออกมา แต่เป็นความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรค และสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่ในขวด หากทำความสะอาดไม่ดีพอ ดังนั้นข้อความเตือนภัยที่แชร์กันว่า ขวดพลาสติกเพท (PET) ใช้ซ้ำ เสี่ยงได้รับสารเคมีปนเปื้อน ไม่เป็นความจริง

ถึงแม้ว่าขวดพลาสติกเพท (PET) จะสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ แต่ไม่ควรใช้ซ้ำหลาย ๆ ครั้งเนื่องจากอาจก่อให้เกิดการสะสมของเชื้อจุลินทรีย์ ถ้าจำเป็นต้องใช้ซ้ำ ก็ควรทำความสะอาดเพื่อลดการสะสมของเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย เมื่อเห็นว่าขวดมีลักษณะ เริ่มขุ่น มีรอยขีดข่วน บุบหรือแตก ก็ไม่ควรนำมาใช้ซ้ำอีก เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากจุลินทรีย์ที่สะสมในรอยแตกของบรรจุภัณฑ์และส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAfakenews
oryor
การผลิต
การเลือกซื้อ
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ผลิตภัณฑ์อาหาร
อย.
สาระความรู้
อาหาร
ขวดน้ำดื่ม
น้ำดื่มบรรจุขวด