พาราเซตามอลต้องกินร่วมกับ ยาแนค จริงหรือ
11 กรกฎาคม 2562

"ถ้าไม่ได้รับประทานพาราเซตามอลเกินขนาด  ไม่ต้องใช้ยาแนค (N-Acetylcysteine (NAC))” 

          พาราเซตามอลที่ทำให้เกิดเป็นอันตรายกับตับและไตนั้น พบในผู้ป่วยที่รับประทานยาเกินขนาดเป็นส่วนใหญ่ สำรับบุคคลทั่วไปยาพาราเซตามอลยังถือว่าปลอดภัยที่สุด และมีผลข้างเคียงอื่นๆ เมื่อเทียบกับยาลดไข้แก้ปวดกลุ่มอื่น เช่น ยากลุ่มยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) หรือแม้กระทั่งแอสไพริน

          สำหรับขนาดที่เหมาะสมปลอดภัยคือครั้งละ 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ฉะนั้นในคนน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ควรรับประทานยาขนาดเม็ดละ 325 มิลลิกรัมครั้งละไม่เกิน 2 เม็ดหรือ เม็ด 500 มิลลิกรัมไม่เกินครั้งละ 1 เม็ด หากคิดขนาดยารวมเป็นวันคือไม่เกิน 3,250 มิลลิกรัมต่อวัน คนที่น้ำหนักตัวน้อยหรือมากกว่านี้ก็ควรปรับตามสัดส่วนของน้ำหนักตัว ผู้ป่วยที่จะไวต่อการเกิดเป็นพิษของยาพาราเซตามอลได้ง่ายกว่าบุคคลทั่วไป คือ  1. ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอลต่อเนื่องมากกว่า 1 สัปดาห์ 2. รับประทานยาบางรักษาวัณโรคบางชนิดได้แก่ ไอโซไนอะซิด(isoniazid, INH) หรือมีภาวะขาดอาหาร

          ผู้ป่วยที่มีไข้จากการติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด ไข้เลือดออก หรือติดเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ ยาพาราเซตามอลยังถือว่าปลอดภัยที่สุด หากไม่รับประทานเกินขนาด ปัญหาที่พบบ่อยคือผู้ป่วยรับประทานยาที่มีส่วนผสมของยาพาราเซตามอลอยู่แล้ว เช่น ยาเม็ดสูตรผสมแก้ไข้และลดน้ำมูก หรือยาแก้ปวดคลายกล้ามเนื้อ หากผู้ป่วยไม่ทราบแล้วรับประทานยาพาราเซตามอลร่วมด้วยอีก ก็จะเกินขนาดได้ หรือยาพาราเซตามอลที่มีชื่อการค้าต่างกัน หากผู้ป่วยไม่ทราบก็จะเกิดการรับประทานยาซ้ำซ้อนกันได้ ดังนั้นควรทราบชื่อสามัญของยาที่รับประทานด้วยก็จะสามารถป้องกันได้

            ส่วนยาแนค หรือ N acetylcysteine (NAC) นั้น เป็นที่ทราบกันในวงการแพทย์ว่าเป็นยาต้านพิษของยาพาราเซตามอล โดยสามารถป้องกันการเกิดภาวะตับอักเสบจากยาพาราเซตามอลเกินขนาดได้ อย่างไรก็ตามไม่ใช่ผู้ป่วยที่รับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาดแล้ว ต้องได้ยาต้านพิษทุกราย เนื่องจากร่างกายมีความสามารถกำจัดพิษของยาเองได้ในระดับหนึ่ง กล่าวคือแพทย์จะพิจารณาให้ยาแนค ก็ต่อเมือผู้ป่วยต้องรับประทานยาพาราเซตามอลเกินกว่า 150 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในครั้งเดียว หรือเมื่อขนาดเกินกว่า 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในผู้ป่วยที่ไวต่อการเกิดพิษอย่างที่กล่าวไปแล้ว   

           สำหรับการให้มียาแนคผสมอยู่กับยาพาราเซตามอลไปเลยนั้น เคยมีการเสนอในทางวิขาการมาหลายปีแล้ว แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาใดๆ ที่บอกได้ว่าควรต้องมียาแนคผสมกับยาพาราเซตามอลขนาดมากน้อยเพียงใด จึงจะมีประโยชน์และคุ้มค่า เพราะราคายาแนคแพงกว่าพาราเซตามอล ดังนั้นควรจะต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้าน และจึงเป็นการเร็วเกินไปในขณะที่มีข้อมูลเพียงเท่านี้ที่จะสรุปและให้ดำเนินการผลิตสูตรยาผสมอย่างที่เสนอ

 

ศ.นพ.วินัย วนานุกูล

หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

และผู้อำนวยการศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ยา
สุขภาพ
ยาพาราเซตามอล
ยาแนค