มีคนสงสัย และมีการแชร์กันว่า กินยาพาราเซตามอลเยอะ ๆ แล้วตับจะพัง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จริง การกินยาพาราเซตามอลเกินขนาด หรือติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลต่อตับโดยตรง
พาราเซตามอล เป็นยาสามัญประจำบ้าน มีข้อบ่งใช้ในการบรรเทาอาการปวดระดับอ่อน ถึงปานกลาง ลดไข้ บรรเทาอาการปวดศีรษะ ปวดประจำเดือน เป็นยาที่ควรเลือกใช้เป็นอันดับแรกในการบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ ยาพาราเซตามอล เป็นยาที่มีความปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตาม การได้รับยาพาราเซตามอลเกินขนาด ส่วนใหญ่พบว่าเกิดจากการกินต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน บ่อยกว่าการตั้งใจกินยาขนาดสูงเพียงครั้งเดียว ซึ่งการได้รับยาพาราเซตามอลเกินขนาดจะส่งพิษต่อตับ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องบริเวณด้านขวาบน มีตับโตกดเจ็บ หากตรวจเลือด อาจพบค่าที่บ่งว่าการทำงานของตับผิดปกติ ถ้าตับถูกทำลายมากขึ้น อาจพบอาการของตับวายเฉียบพลัน ได้แก่ ตัวเหลือง ตาเหลือง สับสน ซึม ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้ และที่สำคัญ ไม่ควรดื่มสุรา หรือรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาต้านวัณโรค ยากันชัก ร่วมกับการรับประทานยาพาราเซตามอล เพราะอาจทำให้เกิดพิษต่อตับเพิ่มขึ้นโดยยาพาราเซตามอลเป็นยาที่ต้องกินตามน้ำหนักตัว ดังนี้
ยาพาราเซตามอลขนาด 325 มิลลิกรัม
น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) |
จำนวนเม็ด |
22 – 33 |
1 เม็ด |
34 – 44 |
1 เม็ดครึ่ง |
มากกว่า 45 |
2 เม็ด |
ยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม
น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) |
จำนวนเม็ด |
33 – 50 |
1 เม็ด |
51 – 67 |
1 เม็ดครึ่ง |
มากกว่า 67 |
2 เม็ด |
โดยการกินยาพาราเซตามอลเป็นเวลานานติดต่อกันเกิน 5 - 7 วันหรือกินเกินขนาด (4 กรัม/วัน) อาจทำให้เกิดพิษต่อตับ และการกินร่วมกับแอลกอฮอล์จะกระตุ้นทำให้เกิดภาวะตับล้มเหลวได้
นอกจากนี้ยังต้องระวังการใช้ยาซ้ำซ้อนเมื่อใช้ยาร่วมกับยาสูตรผสมที่มีพาราเซตามอลอยู่ด้วย เช่นยาแก้หวัด ดังนั้นก่อนใช้ยา ควรอ่านฉลากให้เข้าใจอย่างละเอียดทุกครั้ง ว่ายาแก้หวัดดังกล่าวมีพาราเซตามอลเป็นส่วนผสมอยู่แล้วหรือไม่ ปริมาณเท่าไหร่ หากกินยาพาราเซตามอลต่อเนื่องครบ 5 – 7 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรพิจารณายาชนิดอื่นแทน โดยปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อน