รับประทานยานอนหลับทำให้สมรรถภาพการทำงานของสมองลดลง จริงหรือ?
12 มีนาคม 2564

           การนอนหลับคือการพักผ่อนที่ดีที่สุด เพราะทำให้ร่างกายและจิตใจของเราสดชื่นพร้อมรับวันใหม่หากนอนไม่หลับจะทำให้เกิดความหงุดหงิด รำคาญใจ ไม่มีสมาธิ อีกทั้งทำให้อ่อนเพลียทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

          เชื่อว่าหลายคนกำลังประสบปัญหานี้ และพยายามหาทางแก้ไข ยานอนหลับจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้นอนหลับได้อย่างดี ซึ่งทราบกันดีว่าแม้ยาจะมีข้อดีช่วยบรรเทา/รักษาอาการได้ แต่ยานอนหลับบางกลุ่มก็มีข้อเสีย หรือผลข้างเคียงหากใช้โดยปราศจากการดูแลจากแพทย์ แล้วผลข้างเคียงที่กล่าวถึงนั้นร้ายแรงจนทำให้สมรรถภาพการทำงานของสมองลดลงจริงหรือไม่ คำตอบคือ จริง หากใช้ยานอนหลับติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

          ยานอนหลับจะถูกสั่งใช้โดยแพทย์เท่านั้น เนื่องจากยามีผลต่อสมองโดยตรง การใช้ยาจึงต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดห้ามใช้ยาเอง เพราะหากใช้ยาเองเป็นระยะเวลานานจะทำให้ร่างกายทนต่อยาต้องเพิ่มปริมาณยาที่รับประทานนั่นหมายความว่าผลข้างเคียงก็มีโอกาสเกิดมากขึ้นตาม หนึ่งในนั้นคือทำให้การทำงานของสมองเสื่อมถอยลง

          แต่ไม่ใช่ยานอนหลับทุกชนิดที่มีผลข้างเคียงที่ทำให้การทำงานของสมองเสื่อมถอยลง ผลข้างเคียงนี้จะเกิดในยานอนหลับบางกลุ่มเท่านั้นโดยเฉพาะยากลุ่มเบนโซไดอะเซพีนส์ (Benzodiazepines) ตัวอย่างยา เช่น ไดอาซีแพม (diazepam) ลอราซีแพม (lorazepam) การใช้ยานอนหลับในกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจะทำให้สมรรถภาพหรือการทำงานของสมองลดลงไปจากเดิม

          แต่อย่าเพิ่งกังวลไปเพราะหากใช้ยานอนหลับตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ซื้อมาใช้เองหรือใช้ติดต่อกันนานเกินกว่าแพทย์แนะนำย่อมปลอดภัยอย่างแน่นอน

 

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAknowledge
ผลิตภัณฑ์ยา
เช็กชัวร์แชร์
ยานอนหลับ
ยานอนหลับกลุ่มเบนโซไดอาซี
การพัฒนาสมอง