หลายคนมีความเชื่อว่า “ยาฉีด” ดีกว่า “ยาเม็ด” เนื่องจากเมื่อเจ็บป่วยฉีดยาเข้าไปแล้วอาการจะทุเลาลง หรือดีขึ้นเร็วกว่าการกินยา ความจริงแล้วเป็นอย่างไร มาติดตามกัน
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับยาเม็ดและยาฉีดกันก่อน
ยาเม็ด เป็นรูปแบบของผลิตภัณฑ์ยาที่ผลิตมาเพื่อนำเข้าสู่ร่างกายโดยการกลืนผ่านปากลงสู่กระเพาะอาหารแล้วดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางลำไส้ เป็นรูปแบบยาที่ผู้ป่วยสามารถใช้ได้เองโดยง่าย สะดวกสบายและไม่เจ็บตัว เหมาะแก่การใช้รักษาโรคที่ต้องการระยะเวลารักษาหลายวัน เช่น การกินยาปฏิชีวนะเพื่อรักษา
โรคติดเชื้อแบคทีเรีย หรือ โรคเรื้อรังที่ต้องใช้ยาต่อเนื่อง เช่น ความดันโลหิตสูง
ยาฉีด เป็นรูปแบบของผลิตภัณฑ์ยาปราศจากเชื้อที่ใช้ฉีดเข้าสู่ร่างกาย การฉีดยาเข้าสู่ร่างกายทำได้
หลายวิธี เช่น ฉีดเข้าหลอดเลือด ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง ทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ผู้มี
ความชำนาญ เช่น แพทย์ พยาบาล การใช้ยาฉีดมีความจำเป็นในกรณี
1. หมดสติ ไม่สามารถกินยาได้
2. ไม่สามารถใช้ยาเม็ดได้ดี เช่น โรคกระเพาะอักเสบ อาหารเป็นพิษ หรือ โรคอื่น ๆ ที่ทำให้อาเจียน
อย่างมาก การกินยาอาจไม่มีประสิทธิภาพ
3. มีปัญหาเรื่องการดูดซึมยา เช่น ผ่าตัดกระเพาะอาหารและลำไส้ มีภาวะลำไส้สั้น การกินยาอาจทำให้
ยาดูดซึมได้ไม่สมบูรณ์
4. ภาวะวิกฤต เช่น ภาวะช็อก ติดเชื้อในกระแสเลือด การให้ยาควรทำโดยวิธีฉีดยาเข้าหลอดเลือด
ซึ่งไม่ต้องผ่านกระบวนการดูดซึมยา จะให้ผลการออกฤทธิ์ที่รวดเร็วที่สุด
ยาเม็ดกับยาฉีด หากมีระดับยาในเลือดที่เท่ากัน จะออกฤทธิ์ได้เท่ากัน อาจจะต่างกันในเรื่องระยะเวลาของการออกฤทธิ์ ดังนั้น ความเชื่อว่า “ยาฉีด” ดีกว่า “ยาเม็ด” เป็นความเข้าใจผิด ซึ่งการพิจารณาให้ยาใดด้วยวิธีการใดนั้น แพทย์จะคำนึงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยเป็นสำคัญ
ข้อมูลอ้างอิง :
ยากินกับยาฉีด เลือกชนิดใด | โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล (mahidol.ac.th)