สบู่สามารถกำจัดติ่งเนื้อได้ จริงหรือ ?
11 พฤศจิกายน 2565

จากการตรวจสอบโฆษณาปัจจุบันพบว่ามีการโปรโมตผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภท “สบู่” ว่ามีคุณสมบัติช่วยให้ติ่งเนื้อที่เกิดขึ้นบนร่างกายแห้งและหลุดออกได้ รวมทั้งกล่าวอ้างว่าเป็นผลจากสารสกัดจากธรรมชาติไม่มีสารอันตราย จนได้รับความสนใจจากผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์อย่างกว้างขวาง แต่ความจริงแล้วนั้น!! ไม่ใช่อย่างที่คิด

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับติ่งเนื้อกันก่อน “ติ่งเนื้อ” มีลักษณะเป็นตุ่มที่ยื่นออกมา นิ่ม ๆ ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่ชัดเจน แต่มักพบติ่งเนื้อเกิดขึ้นในบริเวณที่ผิวหนังมีการเสียดสีต่อเนื่องกับผิวหนังด้วยกัน พบได้บริเวณรอบคอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ หรือใบหน้า ส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และที่ไม่จำเป็นต้องรักษา

ส่วน "สบู่" นั้นจัดเป็นเครื่องสำอาง ใช้เพื่อทำความสะอาดผิวหน้าและผิวกาย ซึ่งจะช่วยชะล้างคราบมันและสิ่งสกปรกออกจากผิว โดยทั่วไปมี 2 รูปแบบคือ สบู่เหลว และสบู่ก้อน ซึ่งภาพตามที่ปรากฏในโฆษณานั้นเป็นสบู่ก้อน ซึ่งสบู่ก้อนเกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างไขมันและด่าง อาจมีการผสมน้ำหอมหรือสีตามที่ต้องการ ดังนั้น การโฆษณาที่ว่าสบู่สามารถกำจัดติ่งเนื้อได้นั้น จึงเป็นข้อความโฆษณาที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง หรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ซึ่งผู้โฆษณาจะมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับในการเลือกใช้สบู่นั้นเราควรเลือกสบู่ให้เหมาะกับผิวของตัวเอง โดยมีแนวทางการเลือกซื้อสบู่ ดังนี้

  1. เลือกซื้อสบู่จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ มีฉลากภาษาไทยครบถ้วน หากสงสัยว่าจดแจ้งแล้วหรือไม่
    ให้นำเลขที่ใบรับจดแจ้ง ตรวจสอบที่เว็บไซต์ อย.
  2. ซื้อสบู่ที่ตรงตามความต้องการ โดยอ่านฉลากให้ละเอียด พิจารณาว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมกับผู้ใช้เช่น สบู่สำหรับเด็ก สบู่สำหรับผู้ที่เป็นสิว

อย่าลืมว่าทุกครั้งก่อนซื้อสบู่มาใช้ควรอ่านฉลาก ปฏิบัติตามวิธีใช้และคำเตือนเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ในกรณีที่พบเห็นการโฆษณาเครื่องสำอางที่สงสัยว่าจะผิดกฎหมาย สามารถร้องเรียนแจ้งเบาะแสมายัง สายด่วน อย. โทร. 1556 หรืออีเมล 1556@fda.moph.go.th หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

 

ข้อมูลอ้างอิง : 

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา : อย่าเชื่อโฆษณาสบู่ช่วยกระชับ จุดซ่อนเร้น (oryor.com)

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา : อย. ยัน 4 สารในเครื่องสำอางมีความปลอดภัย สามารถใช้ได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด (oryor.com)
https://sites.google.com/site/works1hotpot399/khorngkar-sbu-na-phung/bth-thi-2-xeksar-thi-keiywkhxng
:: ศูนย์ข้อมูลเครื่องสำอาง : ความรู้ทั่วไป :: (moph.go.th)

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAfakenews
FDAthai
oryor
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
สบู่
สบู่กำจัดติ่งเนื้อ
โฆษณาเกินจริง
ติ่งเนื้อ
Fakenews
เครื่องสำอาง
ข่าวปลอม