คุณแม่ให้นมลูก ฉลาดเลือกใช้ยา ห่างไกลอันตรายต่อลูกน้อย
21 พฤษภาคม 2561

           ปัจจุบัน คุณแม่ยุคใหม่ได้หันมาให้ความสนใจเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น เนื่องจากรู้คุณประโยชน์ของนมแม่ว่ามีมากมาย แต่ยังไม่ให้ความสำคัญกับอันตรายเกิดแก่ลูกจากยาบางตัวที่แม่ใช้แล้วส่งต่อผ่านทางน้ำนมได้ ดังนั้นคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หากเกิดเจ็บป่วย หรือเป็นโรคประจำตัวที่ต้องใช้ยาประจำนั้นควรมีความรู้เกี่ยวกับการเลือกใช้ยาให้ลูกน้อยปลอดภัย
          หลักการทั่วไปสำหรับเลือกใช้ยา คือ พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาหากไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงการใช้ยาสูตรผสม ควรเลือกใช้ยาที่มีรูปแบบสูดพ่นหรือใช้ภายนอกก่อนยารับประทานและหากไม่แน่ใจว่าเลือกใช้ยาปลอดภัยต่อลูกน้อย ควรปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกร ไม่ควรเสี่ยงใช้ยาไป อาจเกิดอันตรายต่อลูกได้
การเลือกใช้ยาในโรคที่พบบ่อย สำหรับคุณแม่ให้นมลูก
ยาลดไข้ ระงับปวด หรือต้านการอักเสบ : เลือกใช้ยาพาราเซตามอล (paracetamol) หรือ
ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ได้
ยาลดน้ำมูก ลดอาการคัดจมูก :  แนะนำใช้ยาลดน้ำมูกชนิดที่ไม่ทำให้ง่วงเช่น ยาเซทิริซีน (Cetirizine) หรือใช้ยาแก้คัดจมูกในรูปแบบพ่น ไม่ควรใช้ยาลดน้ำมูกชนิดง่วงเพราะทำให้เด็กง่วงซึมได้ และยาแก้อาการคัดจมูก เช่น ยาซูโดเอฟีดรีน (pseudoephedrine) เพราะอาจมีผลยับยั้งการหลั่งน้ำนม
ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย : ยาที่สามารถใช้ได้ผ่านเข้าสู่น้ำนมน้อย ได้แก่ อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin)  แต่ยานี้อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้ในทารกได้ จึงควรเฝ้าระวังอาการที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้
ยาลดกรด : ยาลดกรดที่แนะนำคือยาอลัมมิล (Alum milk) และรานิทิดีน (Ranitidine)
ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน : ดอมเพอริโดน (Domperidone)
ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ห้ามใช้ในหญิงให้นมบุตร ซึ่งพบได้บ่อย
- ยาแก้ไมเกรนเออร์โกตามีน (Ergotamine) ทำให้ทารกเกิดอาเจียน ท้องเสีย และชักได้
- ยารักษาสิวในกลุ่มกรดวิตามินเอ ชนิด รับประทาน เช่น ไอโสเตรติโนอิน (Isotretinoin)
- การใช้ยารักษาสิวฆ่าเชื้อเตตราไซคลีน (tetracycline) ในระยะยาว
- ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาว่าลดความอ้วนซึ่งอาจผสมไซบูทรามีน (sibutamine)

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
สุขภาพ
รักษาโรค
อย.
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
โรคหัวใจ
หัวใจเต้นผิดจังหวะ
เจ็บหน้าอก
กรดไหลย้อน
ใจสั่น
ยาอมใต้ลิ้น
หัวใจหยุดเต้น
CPR