พิษร้ายแมลงก้นกระดก
15 ธันวาคม 2563

          เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยได้ยินพิษร้ายของแมลงก้นกระดกกันมาบ้าง แต่สำหรับคนที่ยังไม่เคยทราบ วันนี้เราจะมาบอก พร้อมทั้งบอกวิธีการดูแลตนเองหลังจากถูกพิษของแมลงก้นกระดกกัน

          แมลงก้นกระดก หรือด้วงก้นกระดก มีส่วนหัว ปีก และหางเป็นสีดำ ช่วงอก ส่วนท้องเป็นสีส้ม    แมลงก้นกระดกมีสารพิษที่เรียกว่า สารพีเดอริน (Paederin) ซึ่งเป็นกรดอ่อน โดยแมลงก้นกระดกเพศเมียจะมีสารพีเดอริน (Paederin) อยู่มากกว่าเพศผู้ หากสารนี้โดนผิวหนังจะทำให้ผิวหนังระคายเคืองได้

          อาการจากพิษของแมลงก้นกระดก

1. เกิดการระคายเคือง ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดง มีอาการแสบร้อน หรือคัน

2. มีตุ่มผื่นแดง ตุ่มพองน้ำ หรือรอยไหม้ โดยอาจพบอาการเหล่านี้หลังได้รับพิษประมาณ 24 ชั่วโมง

3. หากเกาบริเวณที่ได้รับพิษ หรือได้รับพิษบริเวณ ข้อพับ ข้อศอก ผื่นจะสามารถแพร่กระจายไปบริเวณอื่นได้

          อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น และหายไปภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยมากมักจะตกสะเก็ด และไม่เป็นแผลเป็น แต่หากพิษเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้แนะนำให้รีบล้างน้ำ แล้วไปพบแพทย์ทันที

          การรักษา

1. รีบล้างบริเวณที่โดนตัวหรือพิษของแมลงก้นกระดก ด้วยน้ำ หรือสบู่ให้สะอาด

2. กินยาแก้แพ้

3. ทายาสเตียรอยด์ทาบริเวณที่เป็น

4. ประคบเย็น อาจทาว่านหางจระเข้บริเวณที่มีอาการ

5. สังเกตอาการ หากอาการไม่ดีขึ้นให้ไปพบแพทย์

การป้องกัน

1. ทำความสะอาดที่นอนให้สะอาด

2. ไม่สัมผัส และขยี้ตัวแมลงก้นกระดก เพราะจะทำให้ได้รับสารพิษจากแมลงได้ แนะนำให้เป่าแมลงออกไปแทน

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
สุขภาพ
ทั่วไป
แมลงก้นกระดก