เก๋ากี้ หรือ โกจิเบอร์รี่ ดีกว่าที่คิด
23 กุมภาพันธ์. 2565

เรามักได้ยินและพบเห็นการนำสารสกัดจาก”โกจิเบอร์รี่”มาเป็นส่วนผสมทั้งเครื่องดื่มสุขภาพ รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากมาย แท้จริงแล้วนั้นคือผลไม้ที่นิยมนำมาประกอบอาหารหรือมักอยู่ในซุปตุ๋นเครื่องยาจีน หรือ “เก๋ากี้” นั่นเอง เห็นเป็นพืชเม็ดเล็ก ๆ แบบนี้ จะส่งผลอะไรต่อร่างกายของเราได้บ้างนั้น คนรักสุขภาพต้องมาติดตามกันเลย

เก๋ากี้ หรือที่รู้จักกันในชื่อโกจิเบอร์รี่ (Goji berry) , wolfberry หรือ Lycium fruit เป็นผลไม้ในตระกูลเบอร์รี่ ผลสีแดงอมส้ม มีขนาดเล็ก รสชาติเปรี้ยวอมหวาน ได้รับขนานนามว่าเป็น " Superfruit" ด้วยมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ประกอบด้วยเส้นใยอาหารถึงร้อยละ 20 กรดอะมิโน 19 ชนิด ไขมัน แร่ธาตุที่ร่างกายต้องการ เช่น สังกะสี เหล็ก ทองแดง แคลเซียม ฟอสฟอรัส ซิลีเนียม และวิตามิน ได้แก่ วิตามินบี1, บี2 และวิตามินซี รวมทั้งพบสารออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญได้แก่ สารกลุ่ม polysaccharide, carotenoids และ สารประกอบ phenolic ในปริมาณที่สูงด้วย ซึ่งสารทั้ง 3 กลุ่มมีความสำคัญต่อร่างกายดังนี้

1.สารกลุ่มโพลีแซคคาไรด์ (polysaccharide) ช่วยทำให้อาหารอยู่ในทางเดินอาหารนานขึ้น เกิดการ
ย่อยอาหารช้าลง ช่วยลดการดูดซึมสารอาหาร รวมถึงน้ำตาลและไขมัน มีประโยชน์ต่อการควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ช่วยป้องกันการเกิดโรคเส้นเลือดอุดตันรวมถึงโรคทางหลอดเลือดและหัวใจได้

2.สารกลุ่มแคโรทีนอยด์ (carotenoids) เป็นรงควัตถุที่ทำให้ผลเก๋ากี้มีสีส้มแดง ซึ่งสารหลักที่พบสูงกว่าผลไม้ชนิดอื่น ๆ ได้แก่ ซีแซนทีน (zeaxanthin) ลูทีน (lutein) และเบต้าแคโรทีน (-carotene) หรือสารตั้งต้นของวิตามิน A เป็นองค์ประกอบของจอประสาทตาและร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นได้เอง ทำหน้าที่กรองแสงสีฟ้าและลดการสะท้อนของแสง ช่วยป้องกันรังสีจากแสงแดดที่เป็นอันตรายต่อดวงตา มีคุณสมบัติป้องกันโรค
หลายชนิด เช่น โรคต้อกระจก โรคจอรับภาพเสื่อม จอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงทำหน้าที่เป็นสารต้านออกซิเดชันในดวงตาอีกด้วย

3.สารกลุ่มฟีนอลลิก (phenolic) เช่น caffeic acid ,chlorogenic acid , caffeoylquinic acid และ -coumaric acid และสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ myricetin , quercetin และ kaempferol ช่วยเสริม
การทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระหรือสารต้านออกซิเดชันอื่นๆที่มีอยู่แล้วในร่างกายให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น

เก๋ากี้ จึงมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและการศึกษาทางคลินิก โดยช่วยบำรุงสายตา ลดระดับน้ำตาลในเลือด
ลดระดับไขมันในเลือด ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ฤทธิ์ชะลอวัย (Anti-aging activity) ปกป้องเซลล์ประสาท เพิ่มภูมิต้านทาน นอกจากนี้ผลการศึกษายังพบว่า เก๋ากี้ช่วยลดความอ่อนล้าและความเครียดได้ดี

อย่างไรก็ตาม ยังคงพบรายงานผลข้างเคียงเล็กน้อยจากการรับประทานเก๋ากี้ เช่น ปวดท้อง อาเจียน
ปวดหัวในผู้ใช้บางราย หรืออาการพิษจากการที่เก๋ากี้มีสาร Tropane alkaloids เป็นองค์ประกอบ เช่น Atropine และ Scopolamine ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการตาพร่ามัว ท้องผูก ปากแห้ง รูม่านตาขยาย ง่วงซึม วิงเวียนศีรษะและรู้สึกกระวนกระวายได้ รวมถึงรายงานการเกิดตับอักเสบ และปฏิกิริยาผิวไวต่อแสงในผู้ที่รับประทานเก๋ากี้บางรายด้วย

เนื่องจากเก๋ากี้ที่บรรจุอยู่ในแต่ละผลิตภัณฑ์มีการระบุขนาดและรูปแบบการใช้ที่แตกต่างกัน ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพการรักษา การรับประทานเก๋ากี้จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
ความดันโลหิตต่ำหรือสูง หรือใช้ยาบางอย่างเป็นประจำ เช่น วาร์ฟาริน หรือยาที่ส่งผลต่อความดันโลหิตและ
การแข็งตัวของเลือด โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยง เพื่อความปลอดภัยจากการได้รับปริมาณสารออกฤทธิ์ที่เหมาะสม และประโยชน์อย่างเต็มที่จากการรับประทาน

ทั้งนี้ การเลือกบริโภคอาหารที่หลากหลายควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยส่งเสริมสุขภาพได้โดยไม่ต้องเสริมด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือสมุนไพรใด ๆ เพิ่มเติม

 

ข้อมูลอ้างอิง : เรื่อง เก๋ากี้ ผลไม้ดีมีประโยชน์ _Final (1).pdf
http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_herbal/news_detail.php?cat=G&id=122
โกจิเบอร์รี่ ผลไม้บำรุงสายตาและชะลอจอประสาทตาเสื่อม | โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล (mahidol.ac.th)
http://cmed.hcu.ac.th/article.php?num=267

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
อาหาร
สาระความรู้
FDAknowledge
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
สมุนไพร
โกจิเบอร์รี่
ซีแซนทีน
ลูทีน
สารต้านอนุมูลอิสระ
เก๋ากี้
Goji berry
Superfruit
วูฟเบอร์รี่
ซุปเปอร์ฟรุต