แสงแดดมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ช่วยสร้างวิตามินดีที่จำเป็นต่อกระดูก แต่ในแสงแดด หรือในที่นี้คือ รังสีอัลตราไวโอเลต หรือรังสียูวี (Ultraviolet ray: UV) หากได้รับมากเกินจะก่อให้เกิดโทษ เช่น ทำให้เกิดรอยแดง ผิวไหม้ ผิวที่แก่ก่อนวัย ริ้วรอยเหี่ยวย่น รวมทั้งการเกิดมะเร็งผิวหนัง ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดจึงมีความสำคัญ
ที่ช่วยป้องกันอันตรายจากแสงแดดที่จะมาทำลายผิวหนัง แต่เราจะมีวิธีเลือกและใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย่างไร
ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด วันนี้ อย. มีเคล็ดลับมาฝาก
1.เริ่มจากเลือกให้ถูก ก่อนการเลือกใช้เครื่องสำอางป้องกันแสงแดด ควรทำความเข้าใจข้อความต่าง ๆ บนฉลาก
1.1 ค่า SPF คือค่าที่แสดงถึงความสามารถของผลิตภัณฑ์ในการป้องกันการไหม้แดงของผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสรังสียูวีบี (UVB) โดยทั่วไปสามารถใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF15 และเมื่ออยู่กลางแจ้งหรือขณะ
เล่นกีฬาอาจจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF30 ขึ้นไป
1.2 ค่า "PA"หรือค่า "UVAPF " คือค่าที่แสดงถึงความสามารถของผลิตภัณฑ์ในการป้องกันอาการ
ดำคล้ำของผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสรังสียูวีเอ (UVA) โดยดูจากเครื่องหมาย "+" ซึ่งมีค่าตั้งแต่ PA+ ไปจนถึง PA++++ ซึ่งแสดงถึงระดับประสิทธิภาพจากน้อยไปหามาก
1.3 ความสามารถในการกันน้ำ (ถ้ามี) จะแบ่งเป็น 2 ระดับ
- ระดับความสามารถในการกันน้ำสูง (Very Water Resistant) หมายถึง ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดยังคงสภาพ SPF ได้ตามที่กำหนด หลังจากทาผลิตภัณฑ์แล้วมีการแช่น้ำนาน 80 นาที
- ระดับความสามารถในการกันน้ำ (Water Resistant) หมายถึง ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดยังคงสภาพ SPF ได้ตามที่กำหนด หลังจากทาผลิตภัณฑ์แล้วมีการแช่น้ำนาน 40 นาที
ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จึงขึ้นกับรูปแบบกิจกรรม หากเป็นกิจกรรมกลางแจ้งทางน้ำก็เหมาะสำหรับการใช้ที่ SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไปและมีความสามารถในการกันน้ำด้วย
2.ใช้ให้เป็น
2.1 เพื่อความปลอดภัยในการใช้เครื่องสำอาง ควรทดสอบการแพ้ก่อนการใช้ทุกครั้ง โดยการทาผลิตภัณฑ์บริเวณท้องแขน ทิ้งไว้ประมาณ 24-48 ชั่วโมง หากพบความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น เช่น เป็นผื่นแดง คัน ห้ามใช้
2.2การทาผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด
"ทาก่อน" ทาก่อนที่จะออกแดด 15-30 นาที
"ทาหนา" เนื่องจากการป้องกันแสงแดดจะมีประสิทธิภาพเต็มที่ถ้าทาหนาพอ คือต้องใช้ปริมาณ 2 ข้อนิ้วสำหรับหน้าและคอ หรือแบ่งทาทีละ 1 ข้อนิ้ว ซ้ำสองครั้ง
"ทาซ้ำ" ควรทาช่วงเช้า เที่ยง หรือทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะเวลาที่มีเหงื่อออก หลังจาก
ว่ายน้ำ หรือเช็ดตัว
2.3 ควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด หากใช้แล้วมีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น
ให้หยุดใช้ทันทีแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด หากอาการยังไม่ดีขึ้นให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
2.4 กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด แต่ให้หลีกเลี่ยงแสงแดด หรือใส่เสื้อผ้าปกคลุมให้มิดชิด ป้องกันแสงแดดแทน
การใช้เครื่องสำอางที่มีสารป้องกันแสงแดด เป็นเพียงวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากอันตรายจากแสงแดดเท่านั้น ที่สำคัญคือ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในช่วงที่แสงแดดจัด คือ ช่วงเวลา 10.00-16.00 น. หากจำเป็นควรสวมหมวกปีกกว้าง ใส่เสื้อผ้าที่ปกคลุมมิดชิด และสวมแว่นกันแดดร่วมด้วย เท่านี้ก็ช่วยปกป้องผิวจากภัยแสงแดดได้แล้ว
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.rama.mahidol.ac.th/rama_hospital/th/services/knowledge/10212020-1024
New tab (oryor.com)
https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_printing/1058
https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_specify/392
https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_news/751
การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ สำหรับอาการป่วยที่ไม่รุนแรงสำหรับบุคคลโดยทั่วไป เช่น ปวดหัว เป็นไข้ ตัวร้อน ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย หร (oryor.com)
https://tu.ac.th/thammasat-med-select-sunscreen-summer
Microsoft Word - 10.doc (moph.go.th)
https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=38