สารละลายฟอร์มาลดีไฮด์ หรือที่รู้จักในชื่อ ฟอร์มาลิน หรือน้ำยาดองศพ ปกติใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเคมีภัณฑ์ พลาสติก สิ่งทอ หรือใช้ทางการแพทย์ เป็นยาฆ่าเชื้อโรค ฆ่าเชื้อราและเป็นน้ำยาดองศพ ซึ่งปัจจุบันมีการนำมาใช้ผิดประเภทโดยเฉพาะกับอาหารทะเลที่เน่าเสียไว เช่น กุ้ง ปู ปลา ปลาหมึก จากการทำปฏิกิริยากับโปรตีนในอาหารทำให้อาหารคงความสดและเก็บรักษาได้นาน และยังพบในผักสด ผลไม้สด รวมถึงเนื้อสัตว์สด เป็นต้น
ปกติแล้วสัตว์ทะเลจะพบปริมาณของฟอร์มาลินที่มีในธรรมชาติส่วนใหญ่จะมีปริมาณไม่เกิน 1 พีพีเอ็ม (ส่วนในล้านส่วน) ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค ในขณะที่ฟอร์มาลินที่จงใจฉีดหรือแช่ในผักหรือเนื้อสัตว์นั้น หากใช้ปริมาณมากเกินไปและมีการตกค้างย่อมเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคแน่นอน
สำหรับประเทศไทยฟอร์มาลิน (Formalin) จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2561) การกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินในปริมาณมากถึง 30-60 มิลลิลิตร จะทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรง อาเจียน ท้องเดิน หมดสติ และอาจเสียชีวิต
พิษของฟอร์มาลินที่เกิดจากการสัมผัสพบว่าจะทำให้เกิดผื่นคัน ผิวหนังเป็นสีขาว หยาบและแข็ง หากอยู่ในรูปของแก๊สฟอร์มาลดีไฮด์จะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจทำให้แสบจมูก ไอ ตาแดง น้ำตาไหล หายใจไม่ออก เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด หรือมีผลต่อระบบประสาทเหมือนการได้รับพิษจากแอลกอฮอล์ ถ้าสูดดมในปริมาณมากอาจถึงตายได้
วิธีสังเกตอาหารที่มีฟอร์มาลินคือ เมื่อลองดมแล้วมีกลิ่นฉุนแสบจมูก หรือลักษณะภายนอกแปลกไป เช่น ปลาเมื่อเปิดเหงือกดูมีสีแดงเข้มและสดผิดปกติ ตากลมใส ลำตัวแข็งวาว ทั้งที่ไม่ได้แช่เย็น แต่เมื่อนำมาประกอบอาหารเนื้อปลาจะเละ หรือกุ้งจะพบว่าเนื้อกุ้งมีทั้งส่วนที่แข็งสด และมีส่วนที่เปื่อยยุ่ยในตัวเดียวกัน ให้หลีกเลี่ยงการซื้อมาบริโภค เพราะหากเป็นอาหารสดต้องสดเสมอกัน ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเปื่อยหรือส่วนใดส่วนหนึ่งแข็งสด และการใช้ชุดตรวจสารฟอร์มาลินในอาหารก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยได้ โดยตรวจหาระดับการปนเปื้อนที่ความเข้มข้นต่ำสุดคือ 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ppm) หากน้ำที่ใช้ทดสอบให้ผลสีชมพูจนถึงสีแดง แสดงว่ามีการปนเปื้อนของสารฟอร์มาลินมากกว่า 0.5 ppm (ผลบวก)
วิธีเลี่ยงอันตรายจากสารฟอร์มาลิน
-ก่อนนำอาหารสดมาประกอบอาหาร ควรล้างให้สะอาด เพราะฟอร์มาลินส่วนมากจะถูกชะล้างออกไปหมดเนื่องจากมีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี และควรปรุงอาหารให้สุกก่อนบริโภคเพราะความร้อนจะทำให้ฟอร์มาลินระเหยออกไป
-การดมกลิ่นจะทำให้ทราบว่าอาหารนั้นมีฟอร์มาลินหรือไม่ ถ้าอาหารนั้นมีกลิ่นแสบจมูกให้สันนิษฐานว่าน่าจะมีฟอร์มาลินปนเปื้อนอยู่
หากพบการเติมฟอร์มาลินลงในอาหาร และผลการตรวจวิเคราะห์พบฟอร์มาลินในปริมาณที่สูงจนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค จะเข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ยังมีโทษตามกฎหมายด้วย ทั้งนี้หากพบเห็นอาหารที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ได้รับความปลอดภัย สามารถร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. โทร.1556
ข้อมูลอ้างอิง :
อาหารสดเกินไปเสี่ยงมีสาร “ฟอร์มาลีน” ไม่รู้ตัว – รามา แชนแนล (mahidol.ac.th)
https://foodsan.anamai.moph.go.th/th/article/download?id=66823&mid=33860&mkey=m_document&lang=th&did=20920
http://kb.tsu.ac.th/jspui/bitstream/123456789/1332/1/105255.pdf
https://oryor.com/media/newsUpdate/media_news/1715
https://oryor.com/media/infoGraphic/media_printing/389
https://www.hfocus.org/content/2016/05/12204
http://e-library.dmsc.moph.go.th/ebooks/files/formaldehyde.pdf
http://bqsf.dmsc.moph.go.th/bqsfWeb/wp-content/uploads/2017/06/test-kit/3-formalin.pdf
https://www.doctor.or.th/article/detail/3244