ข้อควรรู้ ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นมะเร็ง
24 กุมภาพันธ์. 2566

ปัจจุบันมะเร็งเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตของคนไทย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และสร้างความกังวลใจให้ใครหลายคนไม่น้อย แต่ถึงอย่างนั้นโรคมะเร็งก็สามารถรักษาให้หายได้หากปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดควบคู่กับการทำความเข้าใจและดูแลตัวเอง ดังนี้
           1. ดูแลโภชนาการให้ดี เมื่อได้รับการฉายแสงหรือทำเคมีบำบัดผู้ป่วยมะเร็งมักเจอปัญหาน้ำหนักลดเนื่องจากการรับรสชาติเปลี่ยนไป อิ่มเร็ว กลืนลำบาก คลื่นไส้ จึงควรกินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นอาหารที่ให้พลังงานและมีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ เป็นต้น แต่ถ้ายังไม่สามารถกินอาหารได้อีก จนน้ำหนักยังลด ผู้ป่วยมีทางเลือกในการใช้อาหารที่เสริมคุณค่าทางโภชนาการสำหรับกลุ่มผู้ป่วยเฉพาะโรค หรือเรียกว่า "อาหารทางการแพทย์"
           อาหารทางการแพทย์  หมายถึง อาหารที่ใช้สำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรค หรือผู้ที่มีสภาพผิดปกติทางร่างกาย ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน สามารถใช้เป็นอาหารมื้อหลักหรือเสริมร่วมกับอาหารมื้อปกติได้ โดยใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ หรือนักกำหนดอาหาร ซึ่งสามารถเลือกหาได้จากร้านขายยาทั่วไป ในโรงพยาบาล และห้างสรรพสินค้า
 

           นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนม เป็นแหล่งสำคัญของแคลเซียมและโปรตีน ซึ่งจำเป็นต่อการมีสุขภาพที่ดี สำหรับผู้ป่วยมะเร็งควรเลือกดื่มนมวัวไขมันต่ำ
           การเลือกซื้ออาหารทางการแพทย์และนมให้ปลอดภัย ผลิตภัณฑ์ต้องมีข้อมูลบนฉลากครบถ้วน เช่น ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ส่วนประกอบที่สำคัญ วันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่ควรบริโภคก่อนหรือหมดอายุแล้วแต่กรณี ภาชนะบรรจุต้องอยู่ในสภาพเรียบร้อย มีเลขสารบบอาหาร 13 หลักในกรอบเครื่องหมาย อย. ที่สำคัญซื้อจากร้านที่เชื่อถือได้ ผลิตภัณฑ์มีการเก็บเพื่อจำหน่ายอย่างเหมาะสม สำหรับฉลากอาหารทางการแพทย์ต้องพบข้อความ “อาหารทางการแพทย์” และ “ใช้ตามคำแนะนำของแพทย์”

          2. ดูแลสุขภาพในช่องปาก หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด อาหารที่มีลักษณะแห้งแข็งจะทำให้เจ็บเวลาเคี้ยว ควรรักษาความสะอาดของช่องปากและฟัน โดยแปรงฟันอย่างถูกวิธี ใช้แปรงที่มีขนอ่อนนุ่ม และบ้วนปากด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือหลังแปรงฟัน หลังอาหารทุกมื้อและก่อนนอน การเลือกใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก มีข้อแนะนำดังนี้
          - ยาสีฟัน : ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์รสไม่เผ็ด เลือกให้เหมาะกับปัญหาช่องปาก โดยสังเกตส่วนประกอบสำคัญที่ระบุบนฉลาก
          - น้ำยาบ้วนปาก : เลือกที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันการระคายเคืองต่อเยื่อบุช่องปากและอาจทำให้แสบช่องปาก นอกจากนี้ต้องระวังส่วนผสมที่เป็นกรดที่อาจทำให้ผิวฟันกร่อน เคลือบฟันบางลง และอาจเกิดอาการเสียวฟันตามมาได้
                ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากจัดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ควรซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ บรรจุภัณฑ์ปิดสนิทเรียบร้อย และมีเลขที่ใบรับจดแจ้งบนฉลากผลิตภัณฑ์

           3. ป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน ด้วยการหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด เช่น ตลาด โรงหนัง หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัย ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้หมั่นดื่มน้ำสะอาดพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายตามความเหมาะสม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี

           สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์สมุนไพร บางผลิตภัณฑ์อาจประกอบด้วยสารสกัดหรือวิตามินหลายอย่าง รวมทั้งมีการกล่าวอ้างว่ารักษาโรคมะเร็ง แต่ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการเพียงพอว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถรักษามะเร็ง นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์สมุนไพรบางชนิดไม่ทราบผลข้างเคียงที่ชัดเจน อาจส่งผลกับยาแผนปัจจุบันที่แพทย์ใช้รักษา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นเพียงอาหารไม่ใช่ยารักษาโรค จึงไม่ควรใช้ในการรักษามะเร็ง หากจะใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์สมุนไพรจำเป็นต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้ป่วยควรกินอาหารตามปกติให้หลากหลายและมีสารอาหารที่ครบถ้วนมากกว่า เพราะอาหารที่ได้จากธรรมชาติเป็นแหล่งของวิตามินและแร่ธาตุที่ดีที่สุด

 

ข้อมูลอ้างอิง : 

http://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_fda/61_advertise.PDF
https://oryor.com/media/checkSureShare/media_specify/608
https://oryor.com/media/newsUpdate/media_news/2290
http://www.rno.moph.go.th/launhosp/index.php?name=knowledge&file=readknowledge&id=6
https://oryor.com/media/newsUpdate/media_news/2200
https://oryor.com/media/newsUpdate/media_news/2282

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAknowledge
อย.
FDAthai
อาหาร
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
มะเร็ง
โรคมะเร็ง
โภชนาการ
อาหารทางการแพทย์
นมวัว
แผลในช่องปาก
ยาสีฟัน
น้ำยาบ้วนปาก
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
สมุนไพร