ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาลดการดูดซึมไขมัน
25 เมษายน 2566

ยาลดการดูดซึมไขมัน (Orlistat) จัดเป็นยาสำหรับการรักษาในระยะยาวในผู้ป่วยโรคอ้วน หรือ ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกิน รวมทั้งผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงสัมพันธ์กับความอ้วน โดยใช้ร่วมกับอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ ออกฤทธิ์ป้องกันไม่ให้ไขมันบางส่วนจากอาหารที่รับประทานเข้าไปถูกดูดซึมในทางเดินอาหาร โดยให้รับประทานยาพร้อมกับอาหารหลักที่มีไขมันหรือหลังอาหารไม่เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งนอกจากผลข้างเคียงของยาที่เกิดจากไขมันไม่ถูกย่อยและไม่ถูกดูดซึม ทำให้มีไขมันออกมาพร้อมอุจจาระและระบบขับถ่ายผิดปกติแล้วนั้น รู้หรือไม่ว่ายาลดการดูดซึมไขมันยังมีผลต่อยาอื่น ๆ รวมถึงมีข้อควรระวัง ดังนี้

1. หากมื้อไหนไม่ได้รับประทานอาหารหรือรับประทานอาหารที่ไม่มีไขมัน สามารถเว้นการกินยาลดการดูดซึมไขมันได้ 

2. ห้ามปรับขนาดยาให้มากขึ้นหรือลดลงกว่าที่แพทย์กำหนดหรือที่ระบุไว้ในเอกสารกำกับยา

3. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดการดูดซึมไขมันในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้ที่มีภาวะท่อทางเดินน้ำดีอุดตัน และมีการดูดซึมอาหารผิดปกติ

4. ยาลดการดูดซึมไขมันมีผลต่อการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน (Vitamin A,D,E และ K) และเบต้าแคโรทีนของร่างกาย ทำให้ได้รับวิตามินดังกล่าวลดลง 

5. ยาลดการดูดซึมไขมันมีผลต่อยาที่ละลายในไขมัน เช่น รักษาอาการหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ (Amiodarone) และยากดภูมิคุ้มกัน (Cyclosporine) ทำให้ระดับยาดังกล่าวในเลือดลดลง ลดประสิทธิภาพในการรักษา

6. ยาลดการดูดซึมไขมันรบกวนการดูดซึม Vitamin K จึงอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Warfarin) และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกได้

ผู้ที่มีโรคประจำตัวสัมพันธ์กับการรับประทานอาหาร เช่น  เบาหวาน นิ่วในไต นิ่วในถุงน้ำดี หรือต่อมไทรอยด์ ควรแจ้งแพทย์ก่อนการใช้ยา

ก่อนเลือกใช้ยาลดการดูดซึมไขมัน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพื่อหาสาเหตุและแนะนำวิธีรักษาได้อย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงการซื้อผลิตภัณฑ์ยาลดน้ำหนักผ่านช่องทางออนไลน์หรือสื่อโฆษณาด้วยถ้อยคำและภาพชวนเชื่อต่าง ๆ เพราะอาจเสี่ยงได้รับอันตรายจากสารปนเปื้อน ควรพึงระวังไว้ว่ายาลดการดูดซึมไขมันไม่จำเป็นต้องใช้ในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินทุกคน อย่านำมาใช้พร่ำเพรื่อเพื่อหวังผลในการลดน้ำหนัก รวมถึงคนที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องโรคอ้วน แต่อยากหุ่นดี ผอมเพรียวแต่หวังผลควบคุมน้ำหนักด้วย เพราะมีผลเสียที่ต้องพึงระวังตามที่กล่าวมา การควบคุมน้ำหนักที่ดีควรมีการดูแลภาวะโภชนาการให้ถูกต้องและออกกำลังกายสม่ำเสมอจึงเป็นวิธีแรกที่ปลอดภัยและควรเลือกใช้    


ข้อมูลอ้างอิง 

ยาดักจับไขมัน อันตรายหรือไม่ – รามา แชนแนล (mahidol.ac.th)
อันตรายของสาร "ออริสแตท" หรือที่รู้จักกันในนามยาดักไขมัน | สมาคมส่งเสริมนวัตกรรมด้านสุขภาพ (สสนส.) (xn--q3c7aab.com)
เรื่องของยาลดความอ้วน orlistat | โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล (mahidol.ac.th)
เตือนภัย “ยาลดอ้วน-ยาดักไขมัน” -สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (thaihealth.or.th)

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAknowledge
oryor
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ผลิตภัณฑ์ยา
อย.
สาระความรู้
ยา
ยาดักไขมัน
ยาลดน้ำหนัก
น้ำหนักเกิน