ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล ลดปัญหาเชื้อดื้อยา
8 มิถุนายน 2566

ที่ผ่านมายังพบว่าคนไทยยังมีความเข้าใจผิดในว่ายาปฏิชีวนะคือยาแก้อักเสบ ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง เช่น การซื้อยาใช้เอง การใช้ยาผิดข้อบ่งชี้ ใช้ยาผิดขนาด หรือใช้ยาไม่นานพอที่จะกำจัดเชื้อได้ ทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาตามมา ซึ่งปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะและเกิดเชื้อดื้อยานั้นเป็นปัญหาที่มีมานานและยังเป็นปัญหาที่พบได้มากในปัจจุบัน ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับยาปฏิชีวนะกันก่อน ดังนี้

          ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ (Antibiotics) เป็นยาที่มีฤทธิ์ในการทำลาย ฆ่า หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียโดยผ่านหลาย ๆ กลไก ไม่มีฤทธิ์ต่อเชื้อไวรัส จึงไม่ช่วยให้โรคติดเชื้อไวรัสหรือโรคภูมิแพ้หายเร็วขึ้นหรือมีอาการดีขึ้น และยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาแก้อักเสบ
         
การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม พบได้หลายรูปแบบ ได้แก่
การใช้ยาที่มีระยะเวลาสั้นเกินไป ลืมรับประทานยารวมถึงการหยุดยาปฏิชีวนะเมื่ออาการดีขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากใช้ยาไม่ครบตามจำนวนวันที่แพทย์สั่ง
การใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินความจำเป็น เช่น ใช้ยาติดต่อเป็นระยะเวลายาวนานโดยไม่มีข้อบ่งชี้ในการใช้
การใช้ยาในขนาดต่ำเกินไป เช่น รับประทานยาแค่ 2 มื้อ แต่ที่ควรจะเป็นคือ 4 มื้อ ทำให้ไม่เพียงพอต่อการออกฤทธิ์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
การใช้ยาไม่ถูกกับโรค เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัส
การแบ่งยากันใช้ ทำให้เกิดการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสมหลายอย่าง เช่น ใช้ยาไม่ถูกกับโรค ใช้ขนาดยาไม่ถูกต้อง เป็นต้น

          เราช่วยกันลดปัญหาเชื้อดื้อยาได้ โดยปฏิบัติตามแนวทางการใช้ยา 3 ข้อ ต่อไปนี้

1.ใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีจำเป็นเท่านั้น เช่น การป่วยด้วยโรคหวัดเกิดจากเชื้อไวรัสไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ  
2.กินยาปฏิชีวนะให้ครบขนาดตามที่แพทย์สั่ง หากหยุดกินเองเชื้อแบคทีเรียจะปรับตัวให้คงทนต่อยามากขึ้นและกลายเป็นเชื้อดื้อยาในที่สุด 
3
.ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ยาแรงหรือกว้างเกินไป เพื่อมุ่งให้หายจากอาการป่วยโดยเร็ว ซึ่งหากใช้ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์แรงในการรักษาเริ่มแรกทันที เมื่อเกิดการดื้อยาขึ้นจะทำให้ไม่มียาขนานต่อไปเพื่อใช้ในการรักษา

อันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ

1.เกิดการแพ้ยา ซึ่งหากแพ้ยารุนแรงผิวหนังจะเป็นรอยไหม้ หลุดลอก หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต

2.เกิดเชื้อดื้อยา การกินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อกระตุ้นให้เชื้อแบคทีเรียกลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยา ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะที่แรงขึ้น แพงขึ้น อาจได้รับผลข้างเคียงจากยามากขึ้น ซึ่งเหลือให้ใช้อยู่ไม่กี่ชนิด สุดท้ายก็จะไม่มียารักษา และเสียชีวิตในที่สุด

3.เกิดโรคแทรกซ้อน ยาปฏิชีวนะจะฆ่าทั้งแบคทีเรียก่อโรคและแบคทีเรียชนิดดีมีประโยชน์ในลำไส้ เมื่อแบคทีเรียชนิดดีตายไป เชื้ออื่น ๆ จึงฉวยโอกาสเติบโตมากขึ้น ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ลำไส้อักเสบอย่างรุนแรง ซึ่งอันตรายถึงชีวิต

          ยาปฏิชีวนะเป็นยาอันตรายที่ห้ามจำหน่ายในร้านค้าทั่วไป แนะนำให้เข้ารับบริการ ณ ร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตโดยสังเกตได้จากป้ายกำกับแสดงเลขที่ใบอนุญาตขายยาและป้ายระบุชื่อพร้อมภาพเภสัชกรประจำร้าน ซึ่งจะต้องติดไว้ ณ ที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย และมีเภสัชกรที่ได้มาตรฐานปฏิบัติงานตลอดเวลาที่เปิดทำการ รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด


ข้อมูลอ้างอิง 

https://www.pidst.or.th/A743.html

https://amrthailand.net/uploads/strategy/63/3โรครักษาได้.pdf

3 แนวทาง วิธีการใช้ยาปฏิชีวนะ - Thaihealth.or.th | สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

อันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ (healthserv.net)

https://www.hfocus.org/content/2017/11/14839


เรื่องยาปฏิชีวนะ


เชื้อดื้อยา (Antibiotic Resistant)

การใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic drugs) อย่างถูกต้องและเหมาะสม

ทำความรู้จักยาปฏิชีวนะ

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAknowledge
oryor
การเลือกซื้อ
ผลิตภัณฑ์ยา
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
อย.
สาระความรู้
ยา
ยาปฎิชีวนะ
ยาฆ่าเชื้อ
การดื้อยา
ดื้อยา
เชื้อดื้อยา
การดื้อยาต้านจุลชีพ
ดื้อยาต้านจุลชีพ
การจัดการการดื้อยา