ปัจจุบันพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยปรับเปลี่ยนไป
ผู้คนเน้นใช้บริการร้านอาหารที่มีความรวดเร็ว
รวมไปถึงอาหารสำเร็จรูปที่หาซื้อได้ง่าย ซึ่งส่วนใหญ่มักมีรสชาติกลมกล่อม
อร่อยถูกปาก ไม่ว่าจะเป็นขนมขบเคี้ยว อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง
ที่มักผ่านการปรุงแต่งรสด้วย “ผงชูรส” ซึ่งเป็นวัตถุเจือปนอาหารชนิดหนึ่งที่ช่วยเพิ่มรสชาติของอาหาร
หรือสร้างรสกลมกล่อมให้กับอาหารนั่นเอง
ผงชูรส หรือ มอโนโซเดียมแอล-กลูทาเมต (Monosodium L-Glutamate) หรือ MSG คือ เกลือของกรดกลูทามิค (Glutamic Acid) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนประกอบของโปรตีน มีลักษณะ
ผงผลึกสีขาว ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น
เป็นวัตถุเจือปนอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วย วัตถุเจือปนอาหาร
ประเภทวัตถุปรุงแต่งรสอาหาร หรือสารเพิ่มรสชาติ
ผงชูรส
ได้รับการจัดประเภทว่าเป็นส่วนประกอบในอาหารที่อยู่ในระดับปลอดภัยต่อผู้บริโภคจากองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาและองค์การอนามัยโลก
สำหรับประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้จัดให้ผงชูรสสามารถใช้ในอาหารได้หลายชนิดในปริมาณที่เหมาะสม
ยกเว้นการใช้ในเครื่องปรุงรส เช่น ผงปรุงรส
หรือผงหมักเนื้อ และซอส เช่น ซอสบาร์บีคิว หรือน้ำจิ้มไก่
ให้ใช้ได้ไม่เกินร้อยละ 10 แต่มีอาหารบางชนิดที่ยังไม่อนุญาตให้ใช้
เช่น นมดัดแปลงและนมดัดแปลงสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก
อาหารทารกและอาหารสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก
และอาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็ก
แม้ว่าผงชูรส
เป็นสิ่งที่บริโภคได้อย่างปลอดภัย แต่หากรับประทานมากเกินไป
อาจเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ เช่น เกิดอาการลิ้นชา ปากแห้ง คอแห้ง กระหายน้ำ
หรืออาจบางคนมีอาการแพ้ผงชูรส ที่เรียกว่าเป็นโรคภัตตาคารจีน
(Chinese
restaurant syndrome หรือ CRS) ที่ทำให้รู้สึกชาที่ปาก ลิ้น ปวดกล้ามเนื้อบริเวณโหนกแก้ม
ต้นคอ หน้าอก หัวใจเต้นช้าลง หายใจไม่สะดวก ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำ
ส่วนผู้ที่แพ้ผงชูรสมาก ๆ จะเกิดอาการชาบริเวณใบหน้า หู วิงเวียน หัวใจเต้นเร็ว
จนอาจเป็นอัมพาตตามแขนขาชนิดชั่วคราวได้ แต่อาการเหล่านี้จะหายเองภายใน 2 ชั่วโมง รวมถึงไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่น
ๆ
การเลือกซื้อผงชูรสเพื่อการรับประทานผงชูรสให้ปลอดภัย สังเกตที่หีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์ ขอบผนึกต้องไม่มีรอยตำหนิ ฉลากต้องแสดงข้อความเป็นภาษาไทยชัดเจน ไม่เลอะเลือน อ่านได้ง่าย ซึ่งต้องระบุชื่ออาหารและต้องมีคำกำกับว่า “วัตถุเจือปนอาหาร” หรือ “สารเพิ่มรสชาติ” มีเลขสารบบอาหาร ชื่อ-ที่อยู่ผู้ผลิต/แบ่งบรรจุ ประเทศผู้ผลิตและชื่อ-ที่อยู่ผู้นำเข้า รุ่นที่ผลิต ปริมาณ เดือนและปีที่ผลิต/หมดอายุ ส่วนประกอบ วิธีใช้ คำแนะนำในการเก็บรักษา ข้อจำกัดในการใช้และคำเตือนหรือข้อควรระวัง(ถ้ามี) การแสดงข้อความอื่นบนฉลาก และคู่มือ/เอกสารประกอบการจำหน่ายอย่างชัดเจนเพื่อความปลอดภัย
ข้อมูลอ้างอิง
ผงชูรสในอาหาร - โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (chulalongkornhospital.go.th)
https://www.si.mahidol.ac.th/department/Biochemistry/home/md/MD_faq_contents/MD_faq_29ans.htm
กรมอนามัย เตือน ‘ผงชูรส’ กินมากเสี่ยงป่วยโรคภัตตาคารจีน
กินผงชูรสมากทำให้ผมร่วงจริงหรือไม่?
ผงชูรส ทำให้สมองเสื่อมจริงหรือไม่
https://www.agro.cmu.ac.th/absc/data/56/No06.pdf
การเลือกซื้อเครื่องปรุงรส.สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย.