ยากับภาวะ “ความดันโลหิตสูง”
4 กันยายน 2566

 พูดถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สำหรับบางคนต้องรักษาด้วยยาเป็นหลัก และมักต้องใช้ยาหลายชนิดในการรักษา รวมถึงต้องใช้ติดต่อเป็นเวลานาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นอีกหนึ่งในโรคที่ต้องใช้ยาในการรักษาหากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วยังไม่ดีขึ้น

การใช้ยาลดความดันโลหิตแพทย์จะพิจารณาจากค่าความดันโลหิต เฉลี่ยที่วัดได้จากสถานพยาบาล รวมถึงโรคร่วมและระดับความเสี่ยงที่จะเกิดโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด ของแต่ละบุคคล การใช้ยาจึงต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์เท่านั้น ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต และควรทำความเข้าใจในการใช้ยา ดังนี้
          1
. ทำความเข้าใจข้อมูลของตัวยาที่ได้รับ ทั้งชื่อยา ขนาดยา รูปแบบยา วิธีการรับประทานยา การเก็บรักษา โดยมีข้อที่ควรทราบเกี่ยวกับการรับประทานยา คือ ควรรับประทานยาต่อเนื่องทุกวันให้ตรงเวลา หากลืมรับประทานยา และนึกขึ้นได้เมื่อใกล้มื้อถัดไป ให้รับประทานยาของมื้อนั้น โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ห้ามหักแบ่ง บด เคี้ยวยาที่มีการปลดปล่อยตัวยารูปแบบพิเศษให้ค่อย ๆ ปลดปล่อยตัวยา เนื่องจากทำให้รูปแบบการปลดปล่อยตัวยาพิเศษเสียไป และทำให้ได้รับยาเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่สูงมากในครั้งเดียว ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามกับแพทย์หรือเภสัชกรให้ชัดเจน

          2. จดจำอาการข้างเคียงจากยา ซึ่งบางครั้งอาจมีคำเตือนที่ซองยา โดยยาลดความดันโลหิตส่วนใหญ่อาจทำให้วูบ ความดันตกขณะเปลี่ยนท่าทาง หน้ามืด ซึ่งอาจเกิดได้กับคนที่รับประทานยา นอกจากนี้อาจพบอาการข้างเคียงเฉพาะของแต่ละตัวยา เช่น ไอแห้งเรื้อรัง เท้าบวม ปัสสาวะบ่อย หอบหืดกำเริบ เป็นต้น โดยให้มาพบแพทย์ก่อนนัด แต่ห้ามหยุดหรือลองปรับลดขนาดยาเอง
          3
. เพื่อป้องกัน “ยาตีกัน” หรือ “ปฏิกิริยาระหว่างยา” ไม่ว่าจะกับยาด้วยกันเอง อาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาอื่นร่วมด้วยทุกครั้ง
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีผลกับยาลดความดัน

ยาลดความดันโลหิต

ยาอื่น/อาหาร/สมุนไพร

ผลกระทบ

Felodipine

น้ำส้มโอ

ทำให้ระดับยาในกระแสเลือดสูงขึ้น

Methyldopa

ธาตุเหล็ก

ลดการดูดซึมยา Methyldopa ทำให้ออกฤทธิ์ลดความดันได้น้อยลง

Enalapril , Amlodipine

บัวบก

ทำให้ระดับยาลดความดันทั้ง 2 ชนิดในเลือดสูงขึ้น เพิ่มผลข้างเคียงหรือพิษจากยาลดความดัน

Thiazide

มะขามแขก

เมื่อใช้ติดต่อเป็นเวลานานทำให้โพแทสเซียมในเลือดต่ำ กล้ามเนื้ออ่อนแรง

Verapamil , Diltiazem

Cimetidine
(ยารักษาโรคกระเพาะ)

ลดการสลายของยาที่ตับ เกิดการสะสมของยาลดความดัน

 

4. ยาบางชนิดอาจเป็นสาเหตุให้ระดับความดันโลหิตสูงขึ้น เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาแก้คัดจมูก ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เป็นต้น โดยผู้ที่รับประทานยาลดความดันโลหิต ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเข้ารับการรักษาทุกครั้ง เพื่อพิจารณาเลือกใช้ยาที่เหมาะสม
          5. ในกรณีที่ยาหมดแต่ไม่สะดวกไปโรงพยาบาลหรือเลื่อนนัด ควรหาซื้อยาจากร้านขายยาที่มีเภสัชกร ให้คำแนะนำและดูตัวยาที่ตรงกันให้ พร้อมนำแผงและซองยาเก่าไปด้วย ไม่ควรปล่อยให้ขาดยาหรือหยิบยืมยาคนอื่นมาใช้ เนื่องจากยาบางอย่างมีรูปแบบแผงคล้ายกัน อาจทำให้สับสน ได้รับยาผิดชนิดหรือผิดขนาดได้


ข้อมูลอ้างอิง

https://mwi.anamai.moph.go.th/web-upload/migrated/files/mwi/n2282_ac719df7b56a7209d47c5e708693b279_article_20200115150126.pdf (P.46-47)
https://www.doctor.or.th/article/detail/3440
https://mwi.anamai.moph.go.th/web-upload/migrated/files/mwi/n2282_ac719df7b56a7209d47c5e708693b279_article_20200115150126.pdf

ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ใช้อย่างไร | โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล (mahidol.ac.th)
http://mutualselfcare.org/medicine/medicative/antihypertensives.aspx?M=k&G=h

http://www.thaiheart.org/images/column_1563846428/Thai%20HT%20Guideline%202019.pdf
(P.19-23)
https://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-698

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAknowledge
oryor
การเลือกซื้อ
ทะเบียนยา
ผลิตภัณฑ์ยา
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
การรักษา
อย.
สาระความรู้
ยา
โรคความดัน
โรคความดันสูง
โรคความดันโลหิตสูง
วัดความดัน
ความดันโลหิต
ความดันโลหิตสูง
ยาลดความดันโลหิตสูง
ขับปัสสาวะ
ยาขับปัสสาวะ