คกอช. เห็นชอบเป้าหมายและตัวชี้วัดรองรับกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารฉบับใหม่มุ่งไทยมั่นคงทางอาหารและโภชนาการเพื่อชาวไทยและชาวโลก
6 กันยายน 2561

           รองนายกรัฐมนตรี “พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ” ประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติครั้งที่ 2/2561   พิจารณาตัวชี้วัดหลักรองรับกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 - 2579) เพื่อการดำเนินงานอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานในช่วง 20 ปีข้างหน้า 

           วันนี้ (6 กันยายน 2561) ณ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ได้ประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2561 มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน ที่ประชุมฯ  ได้พิจารณาตัวชี้วัดหลัก 18 ตัวชี้วัดสำคัญที่รองรับกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 - 2579) ครอบคลุมทั้งภาคการเกษตร แปรรูปอาหาร การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปพิจารณาจัดทำแผนงาน/โครงการเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ให้เกิดการดำเนินการ อย่างเป็นเอกภาพในทิศทางเดียวกันไปอีก 20 ปีข้างหน้า สู่การบรรลุวิสัยทัศน์ที่ว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อชาวไทยและชาวโลกอย่างยั่งยืน”

          รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในตอนท้ายว่า เป้าหมายรวมและตัวชี้วัดของกรอบยุทธศาสตร์ฯ  ที่คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ได้พิจารณาในการประชุมในวันนี้ นอกจากจะใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามกำกับการขับเคลื่อนกรอบยุทธศาสตร์ด้านอาหารของประเทศแล้ว ยังเป็นตัวสะท้อนความก้าวหน้าของประเทศในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs ด้วย โดยรองรับเป้าหมาย SDG 2, 8 และ 12 ในการนี้ คณะกรรมการอาหารแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง รวม 4 คณะ ได้แก่ 1)คณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่  2) คณะกรรมการขับเคลื่อนด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร  3) คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหารและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดีและ 4) คณะกรรมการขับเคลื่อนด้านการบริหารจัดการ ให้เป็นกลไกในการกำกับทิศทางการดำเนินงานและเป็นเวทีพูดคุยระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วนในการวางแผนแผนปฏิบัติงานและแก้ไขปัญหาให้เกิดปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะเป็นกลไกการรวมพลังและประสานความร่วมมือในการบริหารจัดการด้านอาหารอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้เกิดสัมฤทธิผลของเป้าหมายร่วมกันทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ

แท็กที่เกี่ยวข้อง
ฉัตรชัย สาริกัลยะ
กรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหาร