
จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 มีศูนย์การแพทย์หลายแห่งโฆษณาให้บริการตรวจหาการติดเชื้อ อย. เปิดข้อมูลประเภทชุดตรวจโควิด-19 มีทั้งประเภทตรวจหาเชื้อและตรวจหาภูมิคุ้มกัน ให้ประชาชนทำความเข้าใจก่อนใช้บริการ และไม่ว่าจะเป็นชุดตรวจชนิดใดต้องใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น ห้ามประชาชนหาซื้อมาใช้เอง เพราะมีข้อจำกัดการเก็บตัวอย่างและการแปลผล อาจผิดพลาดได้ หากมาจากพื้นที่เสี่ยงหรือสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยเป็นโรคโควิด-19 ต้องตรวจหาเชื้อแบบการตรวจหาสารพันธุกรรมเท่านั้น เพราะเป็นวิธีที่แม่นยำที่สุด เพื่อยืนยันผลและเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างรวดเร็ว
นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ขณะนี้มีศูนย์สุขภาพบางแห่งโฆษณาให้บริการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 นอกสถานที่ โดยระบุวิธีการตรวจแบบหาภูมิคุ้มกัน (Antibody) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องของชุดตรวจว่า ชุดตรวจโควิด-19 แบบชนิดตรวจหาภูมิคุ้มกัน เป็นการตรวจจากตัวอย่างเลือด เหมาะสำหรับการตรวจ เพื่อเป็นข้อมูลว่าร่างกายมีการสร้างภูมิคุ้มกันหลังจากที่ได้รับเชื้อหรือไม่ แต่บอกไม่ได้ว่าอยู่ระหว่างการติดเชื้อหรือไม่ เมื่อติดเชื้อในช่วงแรกร่างกายจะยังไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันและเมื่อเกิดภูมิคุ้มกันแล้วจะอยู่ในระยะหนึ่งแม้การติดเชื้อจะหายแล้ว กรณีต้องการตรวจการติดเชื้อโควิด-19 โดยการตรวจหาเชื้อโดยตรง ต้องใช้วิธีการตรวจหาสารพันธุกรรม หรือตรวจหาโปรตีนผ่านตัวอย่างเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก ซึ่งขณะนี้วิธีการตรวจที่ให้ผลแม่นยำที่สุด คือ การตรวจหาสารพันธุกรรม ด้วยวิธี RT-PCR สามารถยืนยันได้ว่าติดเชื้อจริงหรือไม่
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือตรวจหาภูมิคุ้มกัน ต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น ห้ามประชาชนใช้ด้วยตนเอง เนื่องจากมีข้อควรระวังหลายประการ เช่น การเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูกเพื่อตรวจหาเชื้อ ต้องทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพที่ผ่านการฝึกอบรม หากเก็บตัวอย่างไม่ถูกต้องจะตรวจไม่พบเชื้อ ส่วนการใช้ชุดตรวจหาภูมิคุ้มกัน กรณีได้ผลลบแสดงว่าไม่มีภูมิคุ้มกัน อาจเกิดการแปลผลผิดว่าไม่ได้ติดเชื้อ ทั้งที่ความจริงแล้วร่างกายได้รับเชื้อแต่ยังไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกัน ดังนั้น หากจะใช้บริการศูนย์สุขภาพที่โฆษณาให้บริการตรวจคัดกรองนอกสถานที่ ควรทำความเข้าใจวิธีการตรวจว่าเป็นชนิดใด และเลือกตรวจกับศูนย์การแพทย์ที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อความมั่นใจว่าจะได้รับบริการจากบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจริง ๆ
รองเลขาธิการฯ นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับประชาชนที่คิดว่าตนเองเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด หรือประกอบอาชีพที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด หรือมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยต้องสงสัย ผู้ป่วยยืนยัน หรือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน มีอาการระบบทางเดินหายใจ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ต้องได้รับการตรวจยืนยัน โดยใช้ชุดตรวจหาสารพันธุกรรม ประเภท RT-PCR เท่านั้น เพื่อยืนยันผลและเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างรวดเร็วต่อไป