อย. เตือน อย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร FORTAMIN อ้างรักษาโรคปวดข้อและกระดูก ทางสื่อออนไลน์
1 กุมภาพันธ์. 2564

            อย.เตือนผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร FORTAMIN อ้างรักษาโรคปวดข้อและกระดูกต่างๆ ทางสื่อออนไลน์ เป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงและไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาจาก อย. ย้ำ! ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่สามารถรักษาโรคได้ หากมีอาการเจ็บข้อ ปวดกระดูก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกวิธี

            เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร FORTAMIN ทางเว็บไซต์ https://fortamin-th.genuine-store.com/ พบข้อความโฆษณาระบุ เช่น “FORTAMIN กำจัดโรคที่ซับซ้อน รักษาเนื้อเยื่อส่วนที่มีอาการ บรรเทาอาการปวดทันที เข้าถึงจุดที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด การป้องกันโรคข้อ และกระดูก ทำให้รู้สึกเหมือนมีชีวิตใหม่ ไร้ความเจ็บปวด” ซึ่งเป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อโดยไม่สมควร และไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาจาก อย. ละเมื่อนำเว็บไซต์ไปค้นหาที่อยู่โดเมน พบว่าไม่ระบุชื่อผู้จดทะเบียน และเว็บไซต์ จดทะเบียนอยู่ในต่างประเทศ อย. จึงได้มีหนังสือแจ้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการระงับเว็บไซต์ดังกล่าวและดำเนินการ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ต่อไป

            รองเลขาธิการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย.ไม่อนุญาตให้ผลิตภัณฑ์อาหารโฆษณาไปในทิศทางที่เกี่ยวกับการรักษาโรคต่างๆ ดังนั้น ขอให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการโฆษณาผลิตภัณฑ์รักษาโรคข้อต่อและกระดูกต่าง ๆ ทางสื่อออนไลน์ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หากหลงเชื่อซื้อมารับประทาน อาจได้รับผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายอย่างคาดไม่ถึง กรณีมีอาการเจ็บข้อ ปวดกระดูก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกวิธี นอกจากนี้หากผู้บริโภคต้องการตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นมีสรรพคุณตามที่โฆษณาหรือไม่ สามารถตรวจสอบทาง www.fda.moph.go.th หัวข้อสืบค้นข้อมูลใบอนุญาตโฆษณา หรือสอบถามมาที่สายด่วน อย. 1556  หากพบการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง สามารถแจ้งร้องเรียนได้ผ่านช่องทาง ORYOR Smart Application หรือเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือที่สายด่วน อย. 1556

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
อาหาร
รักษาโรค
อย่าเชื่อ...ถึงตาย
สุขภาพ
ข่าวแจ้งเตือน
อันตราย
สุภัทรา บุญเสริม
อย.
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปลอม
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยา
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยารักษาโรค
ไม่มีสรรพคุณรักษา