ประกาศบังคับใช้ฉลากโภชนาการรูปแบบ GDA บนฉลากอาหารแล้ว
8 มิถุนายน 2554

อย. ประกาศให้ใช้ฉลากโภชนาการแบบ GDA โดยบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2554 นี้ พร้อมให้แสดงค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม กับผลิตภัณฑ์อาหาร 5 ชนิด ได้แก่ มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ ข้าวโพดคั่วทอดหรืออบกรอบ ข้าวเกรียบหรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์หรือบิสกิต และเวเฟอร์สอดไส้ พร้อมทั้งมีแนวโน้มขยายผลในผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ อีก เพื่อมุ่งหวังให้ผู้บริโภคชาวไทยมีสุขภาพดี
เนื่องด้วยปัจจุบันภาวะโภชนาการเกินของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับทำให้เกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ซึ่งเป็นปัญหาระดับประเทศ รวมทั้ง นโยบาย ลด หวาน มัน เค็ม ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง อย. ก็ได้มีมาตรการทางกฎหมาย เรื่องฉลากโภชนาการ และมีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามจากการสำรวจการใช้ฉลากโภชนาการยังพบว่าฉลากโภชนาการอ่านและเข้าใจยาก ประกอบกับปัจจุบันมีการนำสัญลักษณ์ทางโภชนาการมาแสดงอย่างแพร่หลายในรูปแบบที่แตกต่างกันบนฉลากด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคไม่เข้าใจและทำให้เกิดการสับสน อย. จึงพิจารณาต่อยอดให้มีการแสดงสัญลักษณ์ทางโภชนาการในรูปแบบใหม่เพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกรับประทานอาหารที่มีความ หวาน มัน เค็ม ลดลง โดยการแสดงค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมที่มีอยู่จริงในผลิตภัณฑ์อาหารนั้นต่อหนึ่งหน่วยบรรจุภัณฑ์บนฉลากด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ หรือที่เรียกกันว่า สัญลักษณ์ทางโภชนาการแบบจีดีเอ (GDA: Guideline Daily Amounts) โดยแสดงอยู่ภายในรูปทรงกระบอกหัวท้ายมน 4 อันเรียงต่อกัน ส่วนเหนือรูปทรงกระบอกแสดงข้อความ “คุณค่าทางโภชนาการต่อ.…….(หน่วยบรรจุภัณฑ์ เช่น ซอง ถุง กล่อง)”และ “ควรแบ่งกิน……ครั้ง” เมื่อผลิตภัณฑ์ห่อนั้นสามารถแบ่งกินได้มากกว่า 1 ครั้ง และเนื่องจากสารอาหารที่แสดงบนสัญลักษณ์ทางโภชนาการแบบจีดีเอนั้น เป็นสารอาหารที่ควรระวังในการบริโภค จึงกำหนดให้มีการแสดงข้อความ “*คิดเป็นร้อยละของปริมาณสูงสุดที่บริโภคได้ต่อวัน” กำกับในส่วนล่างของรูปทรงกระบอก ในเบื้องต้นมีการบังคับใช้สัญลักษณ์ทางโภชนาการกับอาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันที 5 ชนิด ซึ่งได้แก่ มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ ข้าวโพดคั่วทอดหรืออบกรอบ ข้าวเกรียบหรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์หรือบิสกิต และเวเฟอร์สอดไส้ ในส่วนอาหารอื่น ๆ จะทยอยบังคับใช้ต่อไป
ทั้งนี้ อย. จะให้ความรู้ในการจัดทำฉลากโภชนาการในรูปแบบ GDA แก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งหวังให้ผู้บริโภคสามารถประยุกต์ใช้และนำไปสู่การตัดสินใจเลือกซื้อเลือกบริโภคในแต่ละมื้อหรือในแต่ละวันได้อย่างเหมาะสม เหมาะกับภาวะโภชนาการของแต่ละบุคคล

แท็กที่เกี่ยวข้อง
ฉลากโภชนาการ
GDA
สัญลักษณ์ทางโภชนาการ
ฉลากโภชนาการ