“วันดื่มนมโลก” อย. แนะวิธีเลือกซื้อและเก็บรักษานมให้คงคุณภาพพร้อมดื่ม
31 พฤษภาคม 2567

อย. แนะคนไทยให้เลือกซื้อนมพร้อมดื่มที่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน และวิธีเก็บรักษานม 5 ชนิดให้คงคุณภาพ เน้นตรวจสอบฉลากครบถ้วน มีเลขสารบบอาหาร 13 หลัก เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค

            เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) ได้กำหนดให้ 1 มิถุนายนของทุกปี เป็น วันดื่มนมโลกหรือ “World Milk Day” เพื่อให้ประเทศและองค์กรต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญและสนับสนุนการบริโภคนมแก่ประชาชน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงขอเชิญชวนให้คนไทยเลือกซื้อนมพร้อมดื่มที่มีคุณภาพเพื่อความปลอดภัย โดยเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นมที่มีเลขสารบบอาหาร 13 หลัก และมีข้อมูลบนฉลากครบถ้วน ได้แก่ ชื่ออาหาร ชื่อที่ตั้งผู้ผลิต ผู้แบ่งบรรจุ ปริมาณสุทธิ ส่วนประกอบสำคัญ วันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุ นอกจากนี้ ภาชนะบรรจุต้องอยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่รั่ว ไม่ซึม ไม่บวม ไม่ฉีกขาด และควรเลี่ยงการซื้อนมจากร้านค้าที่มีการเก็บผลิตภัณฑ์นมเพื่อจำหน่ายแบบไม่เหมาะสม เช่น ตู้แช่หรือสถานที่เก็บไม่ได้มาตรฐาน

            นอกจาการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นมที่มีคุณภาพแล้ว การเก็บรักษานมก็นับเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพของนม ปัจจุบันมีนมหลายประเภทจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งมีวิธีการเก็บรักษาที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

       1. นมถุง (นมพาสเจอร์ไรส์) ควรเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิไม่เกิน 8 องศาเซลเซียส  ตลอดเวลา เก็บได้นานประมาณ 10 วัน นับจากวันที่บรรจุ ในกรณีที่ดื่มไม่หมดต้องการเก็บไว้ดื่มอีก ควรเทแบ่ง และควรบริโภคให้หมดโดยเร็ว

        2. นมกล่อง (นมยูเอชที) ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิปกติ ไม่ควรโดนแดดโดยตรง ไม่เก็บซ้อนหลายชั้นเกินไป เก็บได้นานประมาณ 6 เดือน

        3. นมเปรี้ยวพร้อมดื่มพาสเจอร์ไรส์ ถ้าเก็บในอุณหภูมิไม่เกิน 8 องศาเซลเซียส จะมีระยะเวลาในการบริโภคไม่เกิน 30 วัน

        4. นมเปรี้ยวพร้อมดื่มยูเอชที เก็บได้ประมาณ 8 เดือน โดยไม่ต้องแช่เย็น

         5. นมสเตอริไลส์ (กระป๋อง) เก็บได้นานประมาณ 12 เดือน โดยไม่ต้องแช่เย็น แต่ไม่ควรให้โดนแดดโดยตรง

            ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์นมที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง หรือไม่มีเลขสารบบอาหาร สามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อจะได้ดำเนินการตรวจสอบดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง
oryor
FDAnews
ฉลาก
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ผลิตภัณฑ์อาหาร
สาระความรู้
อย.
อาหาร
นม
นมดัดแปลง
นมกล่อง
นมดิบ
นมผง
นมผงดัดแปลง
นมสด
นมพาสเจอร์ไรส์
นมยูเอชที
นมสเตอริไรซ์
นมเปรี้ยว
นมโรงเรียน
น้ำนม
นมเปรี้ยวพร้อมดื่มยูเอชที
น้ำนมดิบ
เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ