อย. ยันมีมาตรการสกัดกั้นเครื่องสำอางเถื่อน หากพบไม่ปลอดภัยดำเนินคดีทันที
11 สิงหาคม 2567

ตามที่มีประเด็นข่าว NGO ฟิลิปปินส์ พบเครื่องสำอางยี่ห้อหมอยันฮีปนเปื้อนสารปรอทระบาดหนักในแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จำหน่ายในประเทศฟิลิปปินส์ อย. ยัน มีมาตรการสกัดกั้นเฝ้าระวังเครื่องสำอางเถื่อนที่ไม่ปลอดภัยต่อประชาชน พร้อมทั้งออกประกาศผลวิเคราะห์ และแจ้งเตือนผ่านระบบ ASEAN PMAS หากพบผลิตภัณฑ์ไม่ปลอดภัยดำเนินคดีทันที

เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงประเด็นข่าวที่ระบุว่า NGO ฟิลิปปินส์ กลุ่มเฝ้าระวังสารพิษ Ban Toxics ตรวจพบสารปรอทในครีมบำรุงผิวยี่ห้อหมอยันฮี (Dr.Yanhee) ในบรรจุภัณฑ์สีน้ำเงิน เขียว ม่วง และแดง และเตือนภัยเครื่องสำอางเพิ่มความขาวที่ผลิตในประเทศไทย ระบาดทั่วแพลตฟอร์มขายของในประเทศฟิลิปปินส์ว่าเครื่องสำอางดังกล่าวไม่ทราบแหล่งผลิตแน่ชัดว่าผลิตจากประเทศไทยจริงหรือไม่ ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เก็บตัวอย่างเครื่องสำอางครีมหมอยันฮีหลายรายการจากร้านค้าออนไลน์ พบเป็นเครื่องสำอางเถื่อน ไม่มีใบรับจดแจ้ง ไม่ระบุผู้ผลิต เมื่อส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบสารห้ามใช้ทั้งสารปรอท สเตียรอยด์ ไฮโดรควิโนน และ กรดเรทิโนอิก อย. ปิดร้านค้าแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีการจำหน่ายและดำเนินคดีตามกฎหมาย

            นอกจากนี้ อย. ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และผสานความร่วมมือกับตำรวจในการปราบปรามทลายแหล่งผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางผิดกฎหมายเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเครื่องสำอางเถื่อน พร้อมทั้งออกประกาศผลการตรวจสอบหรือวิเคราะห์เครื่องสำอางที่พบสารห้ามใช้เหล่านี้แล้ว (ดัง QR CODE) และยังได้รายงานผ่านระบบการแจ้งเตือนผลิตภัณฑ์  หลังออกสู่ตลาดของอาเซียน (ASEAN Post-Marketing Alert System : ASEAN PMAS)  กรณีพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย อย. ยืนยันเครื่องสำอางที่ผลิตในประเทศไทยและขอจดแจ้งกับ อย. อย่างถูกต้อง มีความปลอดภัยในการใช้ภายในประเทศและมีคุณภาพสำหรับการส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจ

            รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ขอย้ำเตือนผู้บริโภคอย่าซื้อเครื่องสำอางที่ไม่มีเลขที่ใบรับจดแจ้งมาใช้ สำหรับร้านค้าที่ซื้อเครื่องสำอางเพื่อขาย ต้องมีความรับผิดชอบต่อสินค้าที่นำมาขาย ด้วยการคัดเลือกผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าที่น่าเชื่อถือ เป็นเครื่องสำอางที่จดแจ้งกับ อย. แล้ว มีฉลากภาษาไทยที่ถูกต้องครบถ้วน ทั้งนี้ การซื้อเครื่องสำอางทางออนไลน์ ผู้บริโภคไม่สามารถเห็นรายละเอียดของสินค้า แนะให้ตรวจสอบข้อมูลให้มั่นใจก่อนซื้อว่าเป็นเครื่องสำอางที่จดแจ้งแล้วได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th  หัวข้อ “ตรวจสอบการอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ” หากพบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าผิดกฎหมายแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai Facebook : FDAThai หรือ E-mail : 1556@fda.moph.go.th ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAnews
การผลิต
การเลือกซื้อ
เครื่องสำอาง
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
สาระความรู้
ใบรับจดแจ้ง
จดแจ้งเครื่องสำอาง
เครื่องสำอางผสมสารห้ามใช้
สารห้ามใช้
การนำเข้า
เครื่องสำอางนำเข้า
วีระชัย นลวชัย