จับอีกแล้ว เว็บไซต์โฆษณาฉีดโบท็อกซ์ และกลูตาไธโอน อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง
19 กรกฎาคม 2554

หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคผ่านสายด่วน อย. 1556 ให้ตรวจสอบเว็บไซต์ชื่อ www.biopharmacare.com เนื่องจากมีการโฆษณาฉีดโบท็อกซ์ ฉีดกลูตาไธโอน และจากการตรวจสอบเว็บไซต์ พบว่ามีการโฆษณาฉีดโบท็อกซ์ และฉีดกลูตาไธโอนจริง อีกทั้งยังมีการโฆษณาให้บริการฉีดผิวขาวหรือฉีดกลูตาไธโอน ฉีดโบท็อกซ์ ฉีดจมูกเติมเต็มด้วยสาร filler ฉีดเสริมหน้าผาก ฉีดเติมร่องแก้ม ฉีดลดตีนกา บริการยกกระชับหน้าด้วยไหมทองคำ โดยแพทย์ชำนาญการ พร้อมยังจำหน่ายยาช่วยทำให้ผิวขาว อย. จึงประสานกับตำรวจ บก.ปคบ. ทำการล่อซื้อและปลอมตัวเพื่อเข้ารับบริการ โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการจับกุมเจ้าของเว็บไซต์ ขณะกำลังฉีดโบท็อกซ์ให้กับผู้ล่อซื้อ ทั้งที่ไม่ได้เป็นแพทย์ และยังตรวจพบยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดต่างๆ จำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงทำการยึดของกลางทั้งหมดเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย และแจ้งดำเนินคดีหลายข้อหา
กลูตาไธโอน เป็นสารที่ต้านอนุมูลอิสระ ร่างกายมนุษย์จะได้รับสารชนิดนี้จากการบริโภคอาหารประเภทโปรตีน ไข่และนม รวมถึงผลไม้ประเภทอะโวคาโด และจะถูกเก็บไว้ที่ตับ ในทางการแพทย์ได้นำกลูตาไธโอนมาใช้เป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาทบกพร่อง รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีที่ภาวะร่างกายอ่อนแอ รักษาผลแทรกซ้อนจากการเกิดโลหิตจางเนื่องจากขาดธาตุเหล็ก เป็นต้น โดยวิธีการใช้กลูตาไธโอนนั้น ได้ทั้งรับประทาน และการฉีดเข้าเส้นเลือดหรือกล้ามเนื้อ ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญ อีกทั้งการทำให้ผิวขาวโดยใช้กลูตาไธโอนเป็นเพียงผลข้างเคียงเท่านั้น ยังไม่มีผลงานวิจัยรับรองว่าใช้เป็นยาที่ทำให้ผิวขาวได้ เนื่องจากสารกลูตาไธโอนไม่สามารถถูกดูดซึมจากกระเพาะอาหาร จะถูกย่อยสลายและขับออกทางลำไส้ การกล่าวอ้างว่ากินกลูตาไธโอนแล้วช่วยให้ผิวขาว จึงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
ขอเตือนประชาชนอย่าได้หลงเชื่อการโฆษณาผ่านทางเว็บไซต์ ที่โฆษณาการฉีดโบท็อกซ์ โดยเฉพาะการฉีดสารกลูตาไธโอน ที่อวดอ้างสรรพคุณทำให้ผิวขาวใส เพราะเป็นการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และขณะนี้ อย. ไม่ได้มีการรับขึ้นทะเบียนตำรับยาที่ใช้สารนี้แต่อย่างใด นอกจากนี้ หากผู้ฉีดยาเป็นหมอเถื่อนที่ไม่ได้จบแพทย์ และไม่มีความรู้ด้านการรักษาหรือการฉีดยา ผู้บริโภคอาจได้รับอันตราย และเสียเงินทองจำนวนมากหากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย หรือโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ผ่านทางสื่อต่างๆ สามารถร้องเรียนมายังสายด่วน อย. โทร. 1556 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด

แท็กที่เกี่ยวข้อง
กลูตาไธโอน
โฆษณาโอ้อวดเกินจริง
filler
ฉีดโบท็อกซ์