ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมเครื่องสำอางอาเซียน ครั้งที่ 40 หารือปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องในกลุ่มประเทศอาเซียน
ลดอุปสรรคทางการค้า เฝ้าระวังภัยเครื่องสำอางในภูมิภาค มุ่งเน้นความปลอดภัยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
สร้างความความมั่นใจให้ผู้บริโภค ส่งเสริมนวัตกรรมและความยั่งยืนในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง
วันนี้ (21
พฤศจิกายน 2567) นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นประธานเปิดงานประชุมคณะกรรมการเครื่องสำอางอาเซียน
ครั้งที่ 40 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 22 พฤศจิกายน 2567 ณ
โรงแรม Pullman Bangkok King Powerประเทศไทย โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน
นายแพทย์สุรโชค
ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้ลงนามในข้อตกลงที่จะปรับกฎระเบียบด้านเครื่องสำอางให้สอดคล้องกันในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน
(Agreement on the ASEAN
Harmonized Cosmetic Regulatory Scheme) เมื่อปี พ.ศ. 2546
โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
ซึ่งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเครื่องสำอางอาเซียนเพื่อหารือและติดตามการปรับปรุงกฎระเบียบเป็นระยะ โดยประเทศสมาชิกจะผลัดเปลี่ยนเป็นเจ้าภาพจัดประชุมซึ่งจะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในช่วงเดือนพฤษภาคมและเดือนพฤศจิกายน โดยในครั้งนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมคณะกรรมการเครื่องสำอางอาเซียน
ครั้งที่ 40 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง(The 40th Meeting of the ASEAN Cosmetic
Committee and Its Related Meetings) ได้แก่
การประชุมคณะกรรมการเครื่องสำอางอาเซียน (ASEAN Cosmetic Committee หรือ ACC) การประชุมหัวหน้าคณะผู้แทนคณะกรรมการเครื่องสำอางอาเซียน
(Heads of Delegations หรือ HODs) การประชุมคณะทำงานวิชาการเครื่องสำอางอาเซียน
(ASEAN Cosmetic Scientific Body หรือ ACSB) และการประชุมคณะกรรมการห้องปฏิบัติการทดสอบเครื่องสำอางอาเซียน (ASEAN
Cosmetic Testing Laboratories Committeeหรือ ACTLC)
เลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยทั้งต่อผู้บริโภคที่ได้รับการคุ้มครองจากการใช้เครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สำหรับผู้ประกอบการด้านเครื่องสำอางจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการปฏิบัติตามบทบัญญัติเครื่องสำอางสากล
ลดอุปสรรคทางการค้า ทำให้การนำเข้า-ส่งออกเครื่องสำอางระหว่างภูมิภาคมีความคล่องตัว อีกทั้งมุ่งเน้นความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
การติดตามเฝ้าระวังและการแจ้งเตือนภัยเครื่องสำอางอันตรายในภูมิภาค
ถือเป็นความสำคัญยิ่งต่อการส่งเสริมความร่วมมือด้านกฎระเบียบและมาตรฐานเครื่องสำอางในกลุ่มประเทศอาเซียนให้เกิดความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันและเป็นสากล ส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งในภูมิภาคอาเซียนที่จะร่วมกันเป็นฐานการผลิตเครื่องสำอางเพื่อส่งออกไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ ในการประชุมได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่
ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนแนวปฏิบัติต่อความเป็นอยู่โดยรวมของโลกให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน