อย. ปรับมาตรฐานอาหารเทียบสากล ย้ำ! คุ้มครองผู้บริโภค พร้อมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
26 พฤศจิกายน 2567

อย. ร่วมกำหนดมาตรฐานอาหารสากล ยกระดับความปลอดภัยอาหารไทย เพื่อส่งเสริมการค้าและคุ้มครองผู้บริโภค โดยให้ความสำคัญกับฉลากอาหาร โภชนาการ และเทคโนโลยีใหม่ เช่น อาหารจากเซลล์เพาะเลี้ยง

        สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เดินหน้ายกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการโคเด็กซ์ ครั้งที่ 47 ระหว่างวันที่ 25 – 30 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาตินครเจนีวา (Centre International de Conférences; CICG) สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งเป็นการประชุมสำคัญสำหรับการจัดทำมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (มาตรฐานสากล) โดยมีผู้แทนจาก อย. พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพียง

    เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งมีภารกิจที่สำคัญเกี่ยวกับการกำหนดกฎระเบียบด้านคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยอาหาร รวมถึงการบังคับใช้กฎระเบียบด้านอาหารภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบด้านอาหารให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมถึงติดตามทิศทางและแนวโน้มในการพัฒนามาตรฐานใหม่ ๆ  การเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะได้มีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ ซึ่งจะนำมาสู่การยกระดับกฎระเบียบด้านความปลอดภัยและคุณภาพมาตรฐานอาหารของประเทศไทย โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญ เช่น ฉลากอาหาร ฉลากโภชนาการ วัตถุเจือปนอาหารสารปนเปื้อน สารพิษและยาสัตว์ตกค้างในอาหาร หลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก เป็นต้น รวมถึงการกำหนดกฎระเบียบที่ทันต่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เช่น การผลิตอาหารด้วยเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเซลล์เนื้อเยื่อเพื่อส่งเสริมการค้าอาหารระหว่างประเทศ โดยยังคงประสิทธิภาพในการการคุ้มครองความปลอดภัยด้านสุขภาพของผู้บริโภคเป็นสำคัญ

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคและการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล คาดว่าการปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐานด้านอาหารในครั้งนี้ จะทำให้ผู้บริโคคมั่นใจว่าอาหารที่บริโภคมีความปลอดภัยและมีคุณภาพ การติดตามเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ จะช่วยให้กฎระเบียบด้านอาหารของไทยทันสมัย รองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอาหารในอนาคตและพร้อมแข่งขันในตลาดโลก

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAnews
oryor
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ผู้ประกอบการ
ผลิตภัณฑ์อาหาร
อย.
สาระความรู้
อาหาร
เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ
มาตรฐานการผลิตอาหาร
มาตรฐานการผลิต
อาหารปลอดภัยระหว่างประเทศ
ระดับสากล