
อย. ประสานความร่วมมือกับ สสจ. ทั่วประเทศ
ในการตรวจประเมินโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด และการเก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์
เพื่อกำกับดูแลมาตรฐานการผลิตของโรงคัดบรรจุผัก ผลไม้สด
ตามหลักเกณฑ์ GMP แนะเลือกซื้อผัก
ผลไม้จากแหล่งที่เชื่อถือได้ และการล้างทำความสะอาดผักและผลไม้ เพื่อความปลอดภัย
วันนี้
(28 มกราคม 2568) เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
(สสจ.) ได้มีการประชุมประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน
โดยการหารือในครั้งนี้มุ่งเป้าไปที่การเร่งระดมตรวจเฝ้าระวังความปลอดภัยของผักและผลไม้สดทั่วประเทศ
เพื่อกำกับดูแลมาตรฐานการผลิตของโรงคัดบรรจุผัก
ผลไม้สด ตามหลักเกณฑ์ GMP ซึ่งมีข้อกำหนดที่มุ่งเน้นให้ผู้ผลิตต้องคัดเลือกวัตถุดิบจากแหล่งเพาะปลูกที่มีระบบควบคุมการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างถูกต้อง
มีการแสดงฉลากที่ชัดเจนเพื่อการตามตรวจสอบย้อนกลับ
โดย อย. และ สสจ. จะทำหน้าที่ตรวจประเมิน GMP โรงคัดบรรจุทั่วประเทศ จำนวน 853 แห่ง ซึ่งเป็นการดำเนินการกลางน้ำ
และเก็บตัวอย่างผักและผลไม้สด ณ โรงคัดบรรจุ ส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการมาตรฐาน
เพื่อสรุปสถานการณ์ความปลอดภัยด้านสารเคมีทางการเกษตรตกค้างในผักและผลไม้สด แจ้งต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลต้นน้ำ
เพื่อให้สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
โดย อย. จะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกรณีที่ผลการตรวจประเมิน GMP ไม่ผ่านตามเกณฑ์
และในส่วนของผู้จำหน่ายซึ่งเป็นปลายน้ำ อย.
ขอแนะนำให้เลือกซื้อผัก ผลไม้จากแหล่งที่เชื่อถือได้ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่ามาจากแปลงปลูก
หรือผู้นำเข้ารายใด หากเกิดปัญหาพบความไม่ปลอดภัยจะได้ดำเนินการไปยังต้นทางที่เป็นต้นเหตุของปัญหาได้
รองเลขาธิการฯ
อย.
กล่าวเพิ่มเติมว่า อย. ขอแนะนำผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการล้างทำความสะอาดผักและผลไม้ก่อนรับประทานหรือนำมาปรุงอาหาร
เพราะสามารถช่วยลดสารพิษตกค้างไม่ว่าจะเป็นชนิดดูดซึมหรือไม่ดูดซึมได้ หรือลดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ก่อโรคได้
โดยสามารถนำไปใช้ได้ 3 วิธี คือ วิธีที่ 1 การล้างน้ำธรรมดา โดยแช่น้ำ 15 นาที (เขย่า/ลูบเบาๆ) แล้วล้างผ่านน้ำสะอาดไหลซ้ำอีกครั้งหนึ่งไม่น้อยกว่า 30
วินาที วิธีที่ 2
แช่ในน้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต (เบกกิ้งโซดา) โดยใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต 1 ช้อนชา
หรือ 5 กรัม ต่อน้ำ 4 ลิตร แช่ให้ท่วมผักและผลไม้นาน
15 นาที แล้วล้างน้ำสะอาด และวิธีที่ 3 แช่ในน้ำผสมเกลือ โดยใช้เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ
หรือ 18 กรัม ต่อน้ำ 2 ลิตร แช่ให้ท่วมผักและผลไม้นาน 15 นาที แล้วล้างน้ำสะอาด นอกจากนี้ควรเลือกซื้อผักและผลไม้ที่มีสีสันตามธรรมชาติ ไม่มีคราบขาวของสารเคมี
หรือมีกลิ่นที่ผิดปกติ มีรอยกัดแทะของหนอนหรือแมลงอยู่บ้าง และเลือกรับประทานผักและผลไม้ตามฤดูกาล
เนื่องจากมีโอกาสเจริญเติบโตได้ดีกว่านอกฤดูกาล ทำให้ลดการปนเปื้อนของสารเคมีและปุ๋ย และควรรับประทานผัก ผลไม้ให้หลากหลาย
ไม่ควรรับประทานชนิดเดียวกันซ้ำ ๆ