
อย. สนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจอาหารแห่งอนาคต ตั้งเป้าจัดทำ
Positive list จำนวน 150 รายการ ภายใน 3 ปี เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ
ลดค่าใช้จ่าย ลดเวลาพัฒนาสินค้า เพิ่มรายได้อาหารอนาคต 5 แสนล้าน และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับสากล
เภสัชกรเลิศชาย
เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาสนใจเทรนด์รักสุขภาพมากขึ้น ทำให้มีอาหารแห่งอนาคต “Future
Food” เกิดขึ้นมากมาย ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
(อย.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านอาหาร เห็นความสำคัญการจัดทำ Positive list ซึ่งเป็น
“ข้อความกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารหรือส่วนประกอบของอาหารที่ผ่านการพิจารณาแล้วว่ามีหลักฐานวิชาการพิสูจน์และยืนยันได้ว่ามีประสิทธิภาพตามที่กล่าวอ้างจริง”
อย. จึงดำเนินการจัดทำ Positive list ขึ้นมา
147 รายการ ภายใต้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข
ฉบับที่ 447 พ.ศ. 2566 เรื่อง การกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารบนฉลาก โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่
2 กรกฎาคม 2567 เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำข้อความเหล่านี้ไปใช้ในการแสดงฉลาก
และขอโฆษณาได้โดยไม่ต้องส่งเอกสารให้ อย.
ประเมิน เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลา เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน
ในระดับสากล
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า อย.เล็งเห็นว่า positive lists นี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยผู้ประกอบการสามารถใช้รายการที่ อย. ประกาศแล้วไปกล่าวอ้างเพื่อขายสินค้าได้เลย ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการวิจัยลดเวลาพัฒนาสินค้า ช่วยเพิ่มยอดขาย ขณะเดียวกันผู้บริโภคจะได้มีทางเลือกในการบริโภคอาหารดี มีคุณภาพ และปลอดภัย จึงได้วางยุทธศาสตร์และผลักดันให้เป็นจริง โดยวางเป้าหมายจัดทำ Positive list เพิ่มเติม จำนวน 150 รายการ ภายใน 3 ปี และได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ประกอบด้วยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.), สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.), สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และเครือข่ายนวัตกรรมและการกำกับดูแลอาหาร (FIRN) เข้ามาเป็นเครือข่ายร่วมดำเนินการจัดทำ Positive list และสนับสนุนการวิจัยสารประกอบต่างๆ ในการขึ้นทะเบียนเป็น Positive list เพื่อผลักดันผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตระดับโลก ดึงดูดการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง เพิ่มการผลิตภาคอุตสาหกรรม เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ช่วยเพิ่มมูลค่าทางการค้าและเศรษฐกิจให้ประเทศไทยอย่างยั่งยืน