
วันนี้ (9 เมษายน 2568) นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ได้รับมอบหมายจากนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ
ครั้งที่ 1/2568 ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน
และผู้ทรงคุณวุฒิร่วมกันหารือและติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการดื้อยาที่กลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพโลก
การดื้อยาต้านจุลชีพ
(Antimicrobial resistance: AMR) ส่งผลกระทบต่อคน สัตว์ อาหารและสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยากว่า
1.27 ล้านคนทั่วโลกและคาดในอีก 25 ปีข้างหน้าผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มสูงถึง
10 ล้านคน เศรษฐกิจโลกต้องสูญเสีย GDP ร้อยละ
3.8 ด้วยเหตุนี้
รัฐบาลไทยจึงได้ร่วมรับรองปฏิญญาทางการเมืองในเวทีสหประชาชาติเมื่อกันยายน 2567
พร้อมตั้งเป้าหมายลดอัตราการตายจากเชื้อดื้อยาลงร้อยละ 10
ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของแผนปฏิบัติการการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ
(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566-2570 ในการประชุมครั้งนี้มีการทบทวนผลการดำเนินงานในช่วง
6 ปีที่ผ่านมา พบการใช้ยาปฏิชีวนะในมนุษย์ลดลงร้อยละ 26
(เป้าหมายร้อยละ 20) และการลดการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ลดลงร้อยละ
60 (เป้าหมายร้อยละ 30) และสมรรถนะของระบบจัดการ AMR เพิ่มขึ้นจาก 3.0 เป็น 4.2 คะแนน
(เป้าหมาย 4 จากคะแนนเต็ม 5)
นอกจากนี้
ที่ประชุมได้กำหนดกลไกระดับประเทศในการบริหารและกำกับการดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง
เร่งรัดการดำเนินมาตรการจัดการเชื้อดื้อยาในสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน
พร้อมขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประสานกับหน่วยงานในภาคเกษตรและเลี้ยงสัตว์สร้างหลักประกันความปลอดภัยด้าน
AMR ให้แก่ผลิตภัณฑ์จากสัตว์บกและสัตว์น้ำ
โดยให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
รวมถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินงานตามกรอบการทำงานเฝ้าระวัง AMR
อย่างบูรณาการตามแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว
นายแพย์สุรโชค
ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า
“ความร่วมมืออย่างบูรณาการและการประสานงานระหว่างกระทรวงต่าง ๆ
ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการต่อสู้กับปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งแผนฯ ฉบับที่ 2
นี้จะเป็นแนวทางยั่งยืนในการปกป้องสุขภาพประชาชนและสร้างความมั่นคงให้กับระบบสุขภาพของประเทศ”
การประชุมในวันนี้จึงเป็นการสานต่อความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา
เป็นการยืนยันถึงความตั้งใจที่จะปกป้องคุณภาพชีวิตของประชาชนและสร้างระบบสุขภาพที่เข้มแข็งต่อภัยคุกคามทางสุขภาพในอนาคต