
25 เมษายน
วันมาลาเรียโลก อย. แนะวิธีใช้ผลิตภัณฑ์ทาผิวหนังไล่ยุงอย่างปลอดภัย
ปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลาก เพื่อห่างไกลจากโรคร้ายที่มาจากยุง
องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่
25 เมษายนของทุกปี ถือเป็น “วันมาลาเรียโลก” (World
Malaria Day) โดยมุ่งหวังให้ประชาชนร่วมใจต่อสู้โรคมาลาเรีย
หรือโรคไข้จับสั่น ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากการติดเชื้อโปรโตซัวในกลุ่มพลาสโมเดียม (Plasmodium
spp.) ที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค
และเป็นโรคติดเชื้อที่ยังคงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญเนื่องจากก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยโดยจะมีอาการนำคล้ายกับอาการไข้หวัดแต่ไม่มีน้ำมูก
และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน
อาจรุนแรงจนเจ็บป่วยเรื้อรังหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ซึ่งในประเทศไทยยังพบการระบาด เนื่องจากเป็นประเทศในเขตร้อน
นายแพทย์รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์พร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ห่วงใยสุขภาพประชาชน จึงขอแนะวิธีการป้องกันมาลาเรียที่ดีที่สุด
คือการป้องกันไม่ให้ยุงกัดในช่วงเวลากลางคืนซึ่งเป็นช่วงที่ยุงก้นปล่องออกหากิน
ดังนั้น จึงควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายให้มิดชิด
นอนในมุ้งหรือในเต็นท์ที่กันยุง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุง
หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการสัมผัสยุงพาหะหรือแหล่งที่มียุงชุกชุม เช่น
การเดินป่า ตั้งแคมป์หรือใช้ผลิตภัณฑ์ทาผิวหนังไล่ยุงเพื่อเสริมการป้องกันยุง ซึ่งหากแบ่งตามรูปแบบของสารออกฤทธิ์สามารถแบ่งเป็น
2 ประเภท คือ 1. มีสารเคมีเป็นสารออกฤทธิ์ที่พบบ่อย ได้แก่ดีอีอีที(DEET) เอทิลบิวทิลอะซีทิลอะมิโนโพรไพโอเนต (Ethyl butylacetyl aminopropionate) และอิคาริดิน (Icaridin) ซึ่งต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. ดังนั้น ต้องเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ฉลากแสดงเลขทะเบียน อย.
วอส. ในกรอบเครื่องหมาย อย. 2. มีน้ำมันหอมระเหยเป็นสารออกฤทธิ์ เช่น
น้ำมันตะไคร้หอม (Citronella oil) ซึ่งน้ำมันตะไคร้หอมต้องแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่อ
อย. จึงต้องเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ฉลากแสดงเลขที่รับแจ้ง
รองเลขาธิการฯ
อย.
กล่าวในตอนท้ายเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ทาผิวหนังไล่ยุง
ควรใช้อย่างระมัดระวังอ่านฉลากและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
ควรเก็บผลิตภัณฑ์ในที่มิดชิด ห่างเด็ก อาหาร และสัตว์เลี้ยง ปิดฝาให้สนิทและอย่าให้ถูกแสงแดด
เปลวไฟหรือความร้อน ห้ามรับประทาน ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ห้ามใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี ควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น อย่าใช้ติดต่อกันเป็นประจำ
และห้ามนำไปใช้ทาแทนแป้งหรือโลชั่นทั่วไป ก่อนใช้ควรทดสอบการแพ้
โดยการทาหรือพ่นที่บริเวณข้อพับหรือท้องแขน อย่าทาบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น
บริเวณใกล้ตา ริมฝีปาก เปลือกตา รักแร้ หรือทาบริเวณแผล
ล้างมือทุกครั้งหลังใช้ผลิตภัณฑ์ หากไม่ได้รับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ ผ่าน Line @FDAThai Facebook: FDAThai
หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี11004
หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ