ยาแก้ปวดอันตราย หากใช้ไม่ถูกวิธี
29 พฤษภาคม 2555

หลายคนเข้าใจว่ายา ยาแก้ปวด สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยได้สารพัด โดยเฉพาะใช้บรรเทาอาการปวดทั้งหลาย จึงบริโภคกันอย่างพร่ำเพรื่อ โดยเฉพาะ “พาราเซตามอล” และยาแก้ปวดที่ชื่อ “ทรามาดอล” แต่ทราบหรือไม่ ยาแก้ปวดหากใช้ไม่ถูกต้อง นอกจากจะไม่สามารถบรรเทารักษาอาการปวดได้ ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงขอเตือนผู้บริโภคที่นิยมกินยาแก้ปวดขณะเกิดอาการเจ็บป่วย ซึ่งส่วนใหญ่เข้าใจว่าสามารถรักษาได้ทุกอาการปวด โดยไม่คิดว่าจะมีผลข้างเคียงหรืออันตรายตามมา แต่เป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากยาแก้ปวดแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้ระงับปวดที่มีความรุนแรง แต่ไม่มีฤทธิ์ลดไข้ เช่น มอร์ฟีน ทรามาดอล ยาแก้ปวดกลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงสูง โดยเฉพาะทรามาดอล ซึ่งจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ มึนงง อาเจียน กดระบบหายใจ อีกทั้ง ยังอาจมีอาการทางจิตประสาท เช่น อารมณ์แปรปรวน เฉื่อยชา และหากได้รับยาเกินขนาดจะทำให้เกิดภาวะอื่น ๆ ตามมา เช่น อาเจียน ระบบหัวใจและหลอดเลือดล้มเหลว ชักและระบบหายใจทำงานช้าลงจนถึงขั้นหยุดหายใจได้

สำหรับยาแก้ปวดอีกกลุ่ม คือ กลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้สำหรับอาการปวดไม่รุนแรง เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ซึ่งมีฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ และต้านการอักเสบ แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันนาน ๆ โดยเฉพาะยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เนื่องจากมีผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ได้แก่ ระบบทางเดินอาหาร ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาทส่วนกลาง ระบบเลือด แต่สำหรับยาพาราเซตามอลที่ใช้กันอย่างแพร่หลายนั้น หากใช้เกินปริมาณที่แนะนำ อาจนำไปสู่การเกิดพิษต่อตับ จนนำไปสู่ภาวะตับวาย และเสียชีวิตในที่สุด

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการป่วยเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์หรือเภสัชกร และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หรือหากจำเป็นต้องซื้อยามารับประทานเอง ผู้บริโภคควรซื้อยาจากร้านยาคุณภาพที่มีเภสัชกรให้คำแนะนำ อ่านฉลากยาอย่างละเอียดก่อนใช้ โดยเฉพาะคำเตือนเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง
พาราเซตามอล
NSAIDs
ทรามาดอล
ยาแก้ปวด
ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์