อย. เตือนผู้บริโภค อย่ารับประทานปลาปักเป้า เพราะอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต และยังคงประกาศห้ามนำเข้าหรือจำหน่ายปลาปักเป้าทุกชนิด ผู้ฝ่าฝืนมีโทษหนัก
เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวลูกเรือชาวมอญ 8 รายรับประทานเนื้อและไข่ปลาปักเป้า ทำให้มีอาการหมดสติ บางรายหายใจไม่ออก มีอาการชาตามร่างกาย และเสียชีวิต 2 ราย ที่ จ.ชลบุรี ด้วยความห่วงใย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ดูแล และเตือนไปยังผู้บริโภคให้ตระหนักถึงอันตรายจากปลาปักเป้า โดยห้ามนำมารับประทานอย่างเด็ดขาด และ อย. ยังคงกำหนดให้ปลาปักเป้าทุกชนิดและอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสมเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 264) พ.ศ. 2545 หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท
ทั้งนี้ อย. มีมาตรการกำกับดูแลและตรวจสอบปลาปักเป้าอย่างต่อเนื่อง และยังคงพบว่า มีการลักลอบจำหน่าย โดยล่าสุดได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่ามีการจำหน่ายเนื้อปลาปักเป้าบริเวณตลาดมหาชัย และบริเวณตำบลท่าฉลอม จ.สมุทรสาคร โดยมีลักษณะเป็นปลาเส้นสีใส และมีงาโรยด้านบน ร้านค้าติดป้ายแสดงว่าเป็นปลาหวาน เกรงว่าจะเป็นอันตราย อย. จึงได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์หาชนิดสายพันธุ์ปลาและปริมาณสารพิษเตโตรโดทอกซิน (Tetrodotoxin) รวมถึงเอกลักษณ์ปลาปักเปา (DNA) ต่อไป ทั้งนี้ ปลาปักเป้า มี 2 ชนิด ได้แก่ ปลาปักเป้าน้ำจืด และปลาปักเป้าทะเล ซึ่งชนิดของพิษต่างกัน คือ ปลาปักเป้าน้ำจืดมีพิษที่รุนแรงกว่าปลาปักเป้าทะเล ทั้งนี้ พิษของปลาปักเป้าจะพบในส่วนของอวัยวะภายใน หากรับประทานเข้าไปจะมีอาการชาที่ลิ้น ปลายนิ้วมือ คลื่นไส้อาเจียน ในขั้นแรกจนถึงขั้นรุนแรง อาจเป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้ อีกทั้งประเทศไทยยังไม่มีองค์ความรู้ในเรื่องการจำแนกสายพันธุ์ และไม่มีการอบรมวิธีการแล่อย่างถูกวิธี จึงไม่ควรรับประทานปลาปักเป้าทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม
เพื่อความปลอดภัย ผู้บริโภคอย่านำปลาปักเป้าทุกชนิดและอวัยวะทุกส่วนมาประกอบอาหาร เพราะอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต โดยก่อนรับประทานปลาครั้งใดให้สังเกตก่อนรับประทาน หากเนื้อปลาที่แล่เป็นปลาปักเป้า ลักษณะเนื้อจะนูนคล้ายสันในไก่ ไม่ควรเสี่ยงซื้อมารับประทาน กรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์เนื้อปลา เช่น ลูกชิ้น ปลาเส้น ในพิจารณาว่าอยู่ในภาชนะบรรจุที่มีฉลากระบุแหล่งผลิต ที่ชัดเจน มีเครื่องหมาย อย.
ปลาปักเป้าอันตรายถึงชีวิต นำเข้า จำหน่าย มีโทษหนัก
8 มีนาคม 2555