
อย. เผย คุมเข้มสารฟีนาซีแพม (Phenazepam) หลังพบการลักลอบนำเข้าใช้เป็นยานอนหลับชนิดใหม่ทางภาคใต้ เกรงประชาชนตกเป็นเหยื่อ ได้รับผลกระทบจากสารฟีนาซีแพม ซึ่งมีฤทธิ์ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต รุดออกประกาศควบคุมให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออก ยกเว้นกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ได้รับมอบหมาย และยังห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองเว้นแต่ได้รับอนุญาตรวมทั้งห้ามเสพด้วย ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำและปรับ ซึ่งประกาศฯ จะมีผลใช้บังคับตามกฎหมายในเร็ววันนี้ เตือนผู้บริโภคไม่ควรหาซื้อวัตถุออกฤทธิ์มาใช้เอง โดยเฉพาะการใช้เพื่อลดความวิตกกังวลหรือช่วยทำให้นอนหลับ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่ปรากฏข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้จับกุมผู้ต้องหาพร้อมของกลางที่มีลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบนสีส้ม บนแผงพิมพ์ “Erimin 5 028 MADE IN JAPAN ฯลฯ” เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 ไนเมตาซีแพม (nimetazepam) เนื่องจากโดยปกติแล้วยาในชื่อการค้า Erimin® มีตัวยาสำคัญคือไนเมตาซีแพม แต่ภายหลังจากการตรวจวิเคราะห์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ปรากฏว่าสารที่บรรจุอยู่ในเม็ดยาดังกล่าวเป็นฟีนาซีแพมไม่ใช่ไนเมตาซีแพมนั้น อย. เกรงประชาชนจะได้รับอันตรายจากสารฟีนาซีแพมที่มีผู้นำมาใช้ในทางที่ผิดและพบมีการขายทางอินเทอร์เน็ตทั้งในรูปแบบผง เม็ด สารละลาย ฯลฯ ซึ่งผู้เสพนิยมใช้ฟีนาซีแพมเพื่อทำให้เกิดการผ่อนคลายอารมณ์ให้เคลิบเคลิ้มมีความสุข แต่เนื่องจากฟีนาซีแพมซึ่งเป็นยาในกลุ่มเบนโซไดอาซีพีน (Benzodiazepines) ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง และปัจจุบันยังไม่ได้รับการยอมรับให้ใช้ในการบำบัดรักษาโรคในประเทศไทยและอีกหลายประเทศ เป็นสารที่มีความแรงสูง โดยมีความแรงมากกว่าไดอาซีแพม 5 - 10 เท่า และเป็นยาที่ออกฤทธิ์นาน จึงพบผู้เสพหลายรายเสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาด นอกจากนี้ ยังพบการแพร่ระบาดของฟีนาซีแพมในต่างประเทศ ทำให้ประเทศในแถบยุโรปรวมถึงบางรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกามีการควบคุมฟีนาซีแพม สำหรับประเทศไทยคณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทได้ให้ความเห็นชอบในการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อควบคุมฟีนาซีแพมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 แล้ว โดยห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 เว้นแต่กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 - 400,000 บาท นอกจากนี้กฎหมายยังห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองเว้นแต่ได้รับอนุญาตรวมทั้งห้ามเสพวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 - 100,000 บาท คาดว่าประกาศฯ จะมีผลใช้บังคับในเร็วๆ นี้
เลขาธิการ อย. กล่าวต่อไปว่า ขอเตือนมายังผู้บริโภคที่จำเป็นต้องใช้วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทว่า เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ไม่ควรหาซื้อวัตถุออกฤทธิ์มาใช้เอง การใช้วัตถุออกฤทธิ์ทุกประเภทต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและสั่งจ่ายจากแพทย์ กรณีเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 เช่น Diazepam Lorazepam Chlorazepate ฯลฯ สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาที่ได้รับใบอนุญาตฯ ซึ่งจะมีป้ายแสดงอย่างชัดเจนว่าเป็น “สถานที่ขายวัตถุออกฤทธิ์” โดยมีเภสัชกรเป็นผู้ส่งมอบวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวตามคำสั่งของแพทย์ พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้วัตถุออกฤทธิ์ที่ปลอดภัยตามหลักวิชาการ