อย.เผย ยังคงพบปัญหาอาหารนำเข้าพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ครั้งนี้พบในบล็อกโคลี และผักกาดขาว พบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง เช่น ระบุข้อความ “white” ใต้ชื่อ ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของอาหาร พบโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวนมาก เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อ้างช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินที่ดำคล้ำ บ้างอ้างเพิ่มขนาดหน้าอก อ้างสลายไขมัน อ้างลดคอเลสเตอรอลไม่เสี่ยงโรคหัวใจ เบาหวาน เป็นต้น โฆษณายาโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีการรับรองยกย่องสรรพคุณยาโดยบุคคลอื่น ด้านผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ พบโฆษณาร้อยไหมโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ ได้แก่ อาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ และเครื่องสำอาง รวม 61 ราย รวมเป็นเงินค่าปรับกว่า 6 แสนบาท
ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ ในช่วงเดือนมกราคม 2556 ได้แก่ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 จำนวน 28 ราย พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 จำนวน 29 ราย พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2531 จำนวน 2 ราย และพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 จำนวน 2 ราย รวมทั้งสิ้น 61 ราย คิดเป็นมูลค่า 604,200 บาท
รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า จากการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติอาหาร ได้เปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดในกรณีต่าง ๆ เช่น กรณีอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ พบสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโฟอสฟอรัสในบล็อกโคลี และกลุ่มคาร์บาเมต ในผักกาดขาว ซึ่งมีคุณภาพมาตรฐานไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จึงได้ดำเนินคดีในข้อหานำเข้าเพื่อจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน นอกจากนี้ยังพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ทางสื่อต่าง ๆ ได้แก่ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยโฆษณาในลักษณะโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และไม่ได้ขออนุญาตโฆษณา เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โฆษณาในลักษณะอ้างว่าช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินที่ดำคล้ำ /ทำให้ผิวขาว เปล่งปลั่ง อ้างว่าช่วยเพิ่มขนาดหน้าอก ยกกระชับ อวดอ้างลดความอ้วน ลดไขมัน กระชับสัดส่วน ลดคอเลสเตอรอลไม่เสี่ยงโรคหัวใจ เบาหวาน เป็นต้น พบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง เช่น ไม่แสดงข้อความ “ ควรกินอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสมเป็นประจำ” บางผลิตภัณฑ์มีการระบุคำว่า “white” ไว้ใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของอาหารว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทำให้ผิวขาวได้ ซึ่งเป็นการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตและเข้าข่ายหลอกลวงโอ้อวดเกินจริงทั้งสิ้น เพราะผลิตภัณฑ์อาหารต้องไม่โฆษณาสรรพคุณในทางยาดังที่โฆษณา และในส่วนของผลิตภัณฑ์ยา โฆษณาในลักษณะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดสรรพคุณครอบจักรวาล และโฆษณาขายยาโดยมีการรับรองหรือยกย่องสรรพคุณยาโดยบุคคลอื่น พบการขายยาอันตรายในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ด้านผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ พบการโฆษณาร้อยไหมโดยไม่ได้รับอนุญาต ระบุข้อความ ร้อยไหม ยกกระชับ สวยสั่งได้ ถือเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โฆษณาโดยใช้ข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง เช่น อ้างช่วยลบเลือนฝ้า-จุดด่างดำ ลดริ้วรอยแห่งวัยที่สะสมตลอด 1 ปี ได้ภายในเวลา 6 สัปดาห์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ขอเตือนประชาชนอย่าได้ซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้ขออนุญาตจาก อย. ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และอย่าหลงเชื่อการโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองเงินทองโดยไม่ได้ผลตามที่โฆษณาอวดอ้าง มิหนำซ้ำยังอาจได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์นั้น หรือเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้อง ทั้งนี้ อย. ได้มีการดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติต่างๆ ในความรับผิดชอบของ อย.เป็นประจำสม่ำเสมอ โดยผู้สนใจสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้กระทำผิดพร้อมรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th คลิก “ ผลการดำเนินคดี ” เพื่อเป็นข้อมูลในการเฝ้าระวัง และหากพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ต้องขออนุญาตจาก อย. แต่ไม่ขออนุญาต หรือพบการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค ขอให้ร้องเรียนมายังสายด่วน อย. โทร. 1556 เพื่อ อย. จะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในที่สุด