
พบผู้ป่วยอาการโคม่า หลังเข้ารับการรักษาจากคลินิกเถื่อน สธ.โดย อย.และ สบส. ร่วมกับ สน.หัวหมาก บุกตรวจจับ พบเป็นบ้านพักอาศัย ย่านหัวหมาก เข้าตรวจสอบพบยา อุปกรณ์ในการแบ่งบรรจุยาและเครื่องปล่อยคลื่นวิทยุเพื่อแก้อาการปวดเมื่อยจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลางทั้งหมดและดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด
นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.หัวหมาก แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการเข้มงวด และตรวจสอบคลินิก และสถานพยาบาลที่ไม่มีแพทย์อยู่ประจำในเวลาทำการและสถานพยาบาลที่ไม่ได้รับอนุญาต เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนผู้บริโภคนั้น เมื่อเร็ว ๆนี้ สน.หัวหมากได้รับแจ้งความว่า
มีคนไข้มารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ด้วยอาการช็อคและแพ้ยาอย่างรุนแรง จนอาการโคม่า ต้องรักษาตัวในห้อง ICU โดยก่อนมาโรงพยาบาลคนไข้ได้ไปรับการรักษาที่คลินิกเถื่อนแห่งหนึ่งที่โฆษณาทางเว็บไซต์ (HUwww.earthclinic.comUH) หลังทราบเรื่อง อย. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.หัวหมาก นำหมายค้นศาลอาญาที่ 454/2556 ลงวันที่ 8 กันยายน 2556
เข้าทำการตรวจค้นบ้านเลขที่ 3313/7 ซอยรามคำแหง 83/2 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พบผู้ต้องหา 2 ราย คือ นายปหัษฐิศร์ ณ พัทลุง และน.ส.ณิชารีย์ ปรีชา ที่บ้านหลังดังกล่าว โดยผู้ต้องหารับว่าได้เปิดบ้านรับรักษาผู้ป่วยจริง และเป็นผู้นำการตรวจค้น จากการตรวจสอบพบของกลางยาหลายรายการ เช่น ยา Norfloxacin 400 ที่กล่องระบุข้อความ “ยาอันตราย” Reg.No. 1A 548/50 จำนวน 1 กล่อง , ยา Cimetidine 400 mg. ที่กล่องระบุข้อความ “ยาอันตราย”
ทะเบียนเลขที่ 1A 782/31 จำนวน 2 กระป๋อง , ยา Pyridoxine Hydrochloride 50 mg. ทะเบียนเลขที่ 1A 845/29 จำนวน 3 กระป๋อง , ยา Thyroid 60 mg. ที่กล่องระบุข้อความ “ยาอันตราย” ทะเบียนเลขที่ (Reg. No. 1A 299/46) จำนวน 3 กระป๋อง , ผงยาสีขาวบรรจุซองซิปใส มีสติ๊กเกอร์ระบุชื่อยา VIT C จำนวน 1 ถุง (8 ซอง) ,
ปลอกแคปซูลเปล่าสำหรับบรรจุยา สีฟ้าเข้ม-ฟ้าอ่อน จำนวน 4 ถุง รวมทั้งยาและอุปกรณ์แบ่งบรรจุยาอีกหลายรายการ
นอกจากนี้ ยังพบเครื่องปล่อยคลื่นวิทยุเพื่อแก้อาการปวดเมื่อย ชื่อ M.O.P.A.AMPLIFIER จำนวน 1 เครื่อง, เครื่องปล่อยคลื่นวิทยุเพื่อแก้อาการปวดเมื่อย ชื่อ BCX ULTRA จำนวน 2 เครื่อง, เครื่องปล่อยคลื่นวิทยุเพื่อ
แก้อาการปวดเมื่อย ชื่อ SR-4 30 MHz 1-10 WATT AMPLIFIER, GB-4000 20 MHz SWEEP/FUNCTION GENERATOR จำนวน 2 เครื่อง , เครื่องฉายแสงอินฟาเรด จำนวน 1 เครื่อง ,บัญชีข้อมูลรายละเอียดของผู้รับบริการ,บัญชีข้อมูลรายละเอียดของผู้รับบริการที่ยังไม่มีการลงข้อมูล และนามบัตรโฆษณาเว็บไซต์ www.earthclinic.com เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลางทั้งหมดส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมดำเนินคดีในข้อหา
1.ผลิตและขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
2.ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4.ประกอบโรคศิลปะโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ กล่าวต่อไปว่า ขอเตือนประชาชนอย่าได้หลงเชื่อโฆษณาการรักษาโรคทางอินเทอร์เน็ต หรือควรตรวจสอบข้อมูลให้มั่นใจก่อนว่า สถานพยาบาลดังกล่าวได้รับอนุญาตถูกต้องและมีแพทย์
เป็นผู้ให้การรักษา อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ประชาชนเกิดความสงสัยแพทย์ที่ตนไปรับการรักษาว่าเป็นแพทย์จริงหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่ สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา โทรศัพท์ 0 2590 1888 ต่อ 310 และ 320 ได้ทุกวันในเวลาราชการ หรือสามารถตรวจสอบได้ที่ เว็บไซต์ www.tmc.or.th โดยเข้าไปในส่วนของบริการประชาชน
ซึ่งนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขให้สถานพยาบาลหรือคลินิกต่าง ๆ ติดรูปผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ไว้ที่บริเวณด้านหน้าคลินิกด้วย
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในตอนท้ายว่า อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคพบเห็นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาโดยไม่ใช่ร้านขายยา หรือ ไม่ใช่สถานพยาบาลหรือโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค ขอให้ร้องเรียนไปยังสายด่วน อย. โทร.1556 หรืออีเมล : 1556@fda.moph.go.th หรือส่งจดหมายไปที่
ตู้ ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือเดินทางมาร้องเรียนด้วยตัวเองพร้อมตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาที่ ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. อาคาร 1 ชั้น 1 ได้ทุกวันในเวลาราชการ เพื่อ อย. จะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด และเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค