อย.สนับสนุนเครื่องผสมเกลือบริโภคให้แก่ผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางครบ 100 เครื่องติดตั้งทั่วประเทศแล้ว แบ่งเป็นเครื่องผสมเกลือบริโภคขนาดเล็ก 40 กิโลกรัม 70 เครื่องและเครื่องผสมเกลือบริโภคขนาดใหญ่ 150 กิโลกรัม 30 เครื่อง
เพื่อให้มีเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม สามารถผลิตเกลือบริโภค ที่มีคุณภาพหรือมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ได้ผลวิเคราะห์ปริมาณไอโอดีนในเกลือบริโภคเป็นที่น่าพอใจ โดยเกลือบริโภคมีแนวโน้มผ่านมาตรฐานมากขึ้น
ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาเปิดเผยว่า นโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขคือต้องการให้คนไทยไม่ขาดสารไอโอดีน โดยส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตเกลือบริโภค เสริมไอโอดีนด้วยเครื่องผสมเกลือบริโภค และให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดซื้อเครื่องผสมเกลือบริโภค โดยให้ความช่วยเหลือในการอุดหนุนเครื่องผสมเกลือบริโภคให้แก่ผู้ประกอบการขนาดเล็ก 40 กิโลกรัมจำนวน 70 เครื่อง และขนาดใหญ่ 150 กิโลกรัม
จำนวน 30 เครื่อง รวมทั้งสิ้น 100 เครื่อง ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้วตามภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคเหนือ 5 เครื่อง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 51 เครื่อง ภาคกลาง 34 เครื่อง ภาคใต้ 1 เครื่อง และกรุงเทพฯ 9 เครื่อง ซึ่งภายหลังจากการติดตั้งเครื่องผสมได้จัดอบรม
เชิงปฏิบัติการ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเกลือบริโภคด้วยเครื่องผสม รวมทั้งร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการสำรวจความพร้อมและประเมินศักยภาพผู้ประกอบการทั้งก่อนและหลังได้รับการสนับสนุนเครื่องเครื่องผสม พร้อมทั้งให้คำแนะนำ ปรึกษาในการผลิตเกลือบริโภคอีกด้วย
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า จากการตรวจวิเคราะห์ปริมาณไอโอดีนในเกลือ ก่อนได้รับการสนับสนุนเครื่อง (เดือนพฤศจิกายน 2555- กุมภาพันธ์ 2556) ผ่านมาตรฐาน (20-40 ppm) ร้อยละ 70.97 และไม่ผ่านมาตรฐาน ร้อยละ 29.03 โดยพบการกระจายตัวของไอโอดีนไม่สม่ำเสมอเท่าที่ควร หลังได้รับการสนับสนุนเครื่อง (เดือนกรกฎาคม 2556- กันยายน 2556) ผ่านมาตรฐาน (20-40 ppm) ร้อยละ 87.36 และไม่ผ่านมาตรฐานร้อยละ 12.64 เมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังได้รับการสนับสนุน
เครื่องผสม พบว่าผู้ประกอบการผลิตเกลือบริโภค มีแนวโน้มผ่านมาตรฐานตามกฎหมายเพิ่มขึ้นและมีการกระจายตัวของไอโอดีนที่สม่ำเสมอมากขึ้น
อย. จะดำเนินการจัดสร้างระบบบริหารคุณภาพ (Quality Management System ) หรือ QMS สำหรับสถานที่ผลิตเกลือในระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (พ.ศ.2556-2558) โดยมีเป้าหมายระยะสั้นคือ การจัดสร้างระบบ QMS ให้กับสถานที่ผลิตขนาดใหญ่และขนาดกลาง และเป้าหมายระยะยาวคือ สถานที่ผลิตเกลือบริโภคทุกแห่งต้องมีระบบ QMS ทั้งนี้เพื่อให้เด็กไทยได้รับสารไอโอดีนเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย สอดคล้องกับคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจากยูนิเซฟและระบบการผลิตเกลือบริโภคให้ได้มาตรฐาน
ตามแนวทางสากล รองเลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด
อย.สนับสนุนเครื่องผสมเกลือบริโภค 100 เครื่องทั่วประเทศ
27 กันยายน 2556