อย. เผยรายชื่อยาสมุนไพรอันตราย ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ซ้ำฉลากยังแสดงข้อความอวดอ้างสรรพคุณรักษาได้สารพัดโรค เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อ หรือซื้อมาใช้โดยเด็ดขาด อาจได้รับอันตรายจากการปนเปื้อน
ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานีและผู้บริโภคให้ตรวจสอบยาสมุนไพรแผนโบราณหลายรายการ ได้แก่ 1.ยาสมุนไพร ZIA TU WAN (เซีย ทู หวัน) 2.ผลิตภัณฑ์พญาดงชุดชะลอความแก่ 3.ผลิตภัณฑ์ตายสิบปี ดีเหมือนเดิม และ 4.ผลิตภัณฑ์ฮับบาตุส เซาดาห์ “786” เนื่องจากฉลากแสดงข้อความโอ้อวดสรรพคุณรักษาสารพัดโรค อาทิ แก้หัด อีสุกอีใส ป้องกันและรักษานิ่วในไต นิ่วในถุงน้ำดี ต่อมลูกหมากโต มะเร็ง บำรุงกำหนัด บำรุงหัวใจ รักษาโรคเก๊าต์ อัมพฤกษ์ อัมพาต เบาหวาน เป็นต้น รวมทั้งให้ตรวจสอบ 5.ยาสมุนไพร JIE DU DAN ชนิดแคปซูล ระบุเลขทะเบียนตำรับยา สรรพคุณไม่ระบุข้อความภาษาไทย หลังรับเรื่องร้องเรียน อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรทั้ง 5 รายการดังกล่าวยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา และยังพบว่ายาสมุนไพร JIE DU DAN ได้นำเลขทะเบียนยาผลิตภัณฑ์อื่นมาใส่บนฉลาก จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อและซื้อมาใช้โดยเด็ดขาด เนื่องจากมักพบว่าผลิตภัณฑ์ที่แสดงสรรพคุณโอ้อวดเกินจริงมักลักลอบใส่ยาหรือสารที่เป็นอันตรายลงไป และการผลิตผลิตภัณฑ์มักไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน จึงอาจทำให้ได้รับอันตรายจากการปนเปื้อน
รองเลขาธิการ ฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ขอเตือนประชาชนอย่าได้หลงเชื่อยาสมุนไพรแผนโบราณใด ๆ ที่แสดงสรรพคุณเกินจริงว่าสามารถรักษาได้สารพัดโรค เพราะนอกจากจะเสียเงินทองโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังอาจได้รับอันตรายอย่างคาดไม่ถึง มิหนำซ้ำยังอาจเสียโอกาสในการรักษาโรคอย่างถูกต้องอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ยาใด ๆ ขอให้ผู้บริโภคพิจารณาและอ่านฉลากให้ถ้วนถี่เสียก่อน โดยยาแผนโบราณ ฉลากต้องระบุ ชื่อยา เลขทะเบียนตำรับยา เช่น ทะเบียนยาเลขที่ G 888/50 ปริมาณของยาที่บรรจุ เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตยา และแสดงคำว่า “ยาแผนโบราณ” ให้เห็นได้ชัด รวมทั้งแสดงคำว่า “ยาใช้ภายนอก” “ยาใช้เฉพาะที่” ด้วยตัวอักษรสีแดงเห็นได้ชัดเจน แล้วแต่กรณี หรือแสดงคำว่า “ยาสามัญประจำบ้าน” กรณีเป็นยาสามัญประจำบ้าน หรือแสดงคำว่า “ยาสำหรับสัตว์” กรณีเป็นยาสำหรับสัตว์ เป็นต้น ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์ยาที่ไม่ได้ผ่านการขออนุญาตจาก อย. หรือโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค ขอให้ร้องเรียนมายังสายด่วน อย. โทร.1556 หรืออีเมล :1556@fda.moph.go.th หรือส่งจดหมายไปที่ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือเดินทางมาร้องเรียนด้วยตัวเองพร้อมตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาที่ ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. อาคาร 1 ชั้น 1 ได้ทุกวันในเวลาราชการ เพื่อ อย. จะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด และเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค