อย. ไม่หยุดนิ่งกวาดล้างผู้กระทำผิดกฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพ เดินหน้าลุยร่วมกับ ตำรวจ บก.ปคบ. บุกตรวจแหล่งผลิต/จำหน่ายยาสัตว์และวัตถุอันตรายที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ย่านมีนบุรี หลังกรมปศุสัตว์แจ้ง อย. ให้ตรวจสอบ พบจำหน่ายผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน และยาสัตว์ ประเภทกลุ่ม ยาสลบ ยากันชัก ยาฆ่าเชื้อ ยาฆ่าพยาธิ ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจำนวนมาก พร้อมพบวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ไดอาซีแพม ยึดของกลางเป็นหลักฐานมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท แจ้งความผิดหลายข้อหาทันที มีโทษทั้งจำและปรับ ปรามผู้ผลิตและจำหน่ายยาสำหรับสัตว์และวัตถุอันตรายรายอื่นอย่าฝ่าฝืนผลิต/จำหน่ายยาสำหรับสัตว์และวัตถุอันตรายที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้มีคุณธรรมจริยธรรม เห็นความสำคัญของชีวิตสัตว์ก็มีค่าเช่นเดียวกับชีวิตมนุษย์
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา , ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำทีมโดย พล.ต.ต.นรศักดิ์ เหมนิธิ ผบก. ปคบ., พ.ต.อ.ไพฑูรย์ คุ้มสระพรหม รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.ล้ำพันธุ์ พรรธนประเทศ ผกก.4 บก.ปคบ. และ พ.ต.ท.อานันท์ วิชเศรษฐสมิต สว.กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า อย. สนองนโยบายกระทรวงสาธารณสุขในการคุ้มครองความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพให้แก่ผู้บริโภค ต้องได้รับความปลอดภัย มีคุณภาพชีวิต ที่ดี โดยล่าสุด อย. ได้รับแจ้งจากกรมปศุสัตว์ให้ตรวจสอบสถานที่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่สัตว์เลี้ยง ที่ อย. รับผิดชอบเกี่ยวกับยาสัตว์ ดังนั้น เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556 อย. ได้ประสานไปยังตำรวจ บก.ปคบ. นำหมายค้นของศาลเข้าตรวจสอบ บริษัท วรรณกิจ จำกัด ตั้งอยู่ที่ 56/50 หมู่บ้านธีรวรรณ ซ.พระยาสุเรนทร์ 4 ถ.รามอินทรา 109 กรุงเทพฯ ซึ่งจากการตรวจสอบเป็นสถานที่ผลิตยาโดยไม่ได้รับอนุญาต และผลิต/ขายยาสัตว์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา รวมทั้งมีการผลิตและครอบครองเพื่อขายซึ่งผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย แชมพูกำจัดเห็บหมัด และผลิตภัณฑ์หยดหลังกำจัดเห็บหมัด ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบตัวยาสำคัญ ได้แก่ กลุ่มยาสลบและยากันชักสุนัขและแมว ยาฆ่าเชื้อและยาฆ่าพยาธิ ซึ่งใช้รักษาโรคสัตว์ต่างๆ เช่น ท้องเสีย บิด ถ่ายพยาธิ เป็นต้น อาทิ ยาไอเวอร์เมคติน (Ivermectin) ยาซัลฟาเมทาโซน (Sulfamethazole) ยาเอ็นโรฟล๊อกซาซิน (Enrofloxacin) และยาปิเปอราซิน ซิเตรท (Piperazin citrate) กลุ่มยาฆ่าเชื้อทางผิวหนัง เช่น ยาโพวิโดน ไอโอดีน (Povidone Iodine) กลุ่มยาคุมสำหรับสัตว์ เช่น ยาเมทดรอกซีโปรเจสเตอโรน (Medroxyprogesterone acetate) รวมทั้งพบผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายกำจัดเห็บหมัด ได้แก่ แป้งกำจัดเห็บ-หมัด ยี่ห้อ BRAVE แชมพูกำจัดเห็บ-หมัด ยี่ห้อ BRAVE และผลิตภัณฑ์หยดหลังกำจัดเห็บหมัด ฯลฯ ซึ่งอาจจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 หรือ 3โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะต้องขอขึ้นทะเบียนและแจ้งการดำเนินการหรือขออนุญาต โดยยึดยาสัตว์และวัตถุอันตรายที่ผิดกฎหมาย คิดเป็นมูลค่าของกลางประมาณ 5 ล้านบาทพร้อมทั้งได้นำยาและวัตถุอันตราย ส่งตรวจวิเคราะห์ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อหาสารต้องห้ามและเพื่อหาตัวยาสำคัญต่อไป นอกจากนี้ ยังยึดสติกเกอร์ ฉลากยา และวัตถุอันตราย ขวดและกล่องบรรจุผลิตภัณฑ์ แผ่นพับ ใบแทรกเอกสารกำกับยา ซึ่งยังไม่ได้ขออนุญาตการโฆษณาจาก อย. จำนวนมาก อีกทั้งยังพบวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ไดอาซีแพม (Digzepam) ซึ่งจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 โดยมีไว้เพื่อขายอีกด้วยส่วนของการดำเนินคดี ในเบื้องต้นได้แจ้งข้อหา ดังนี้
ข้อหาเกี่ยวกับยาสัตว์
1. ผลิตและขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
2. ผลิตหรือขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. โฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
ข้อหาเกี่ยวกับวัตถุอันตราย
1. กรณีครอบครองวัตถุอันตรายที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง หากเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ผู้จำหน่ายจะถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพบว่าเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 2 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 โดยมิได้แจ้งการดำเนินการผลิต มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อหาเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
- กรณีพบวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ไดอาซีแพม ซึ่งจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือ
ประเภท 4 โดยมีไว้เพื่อขาย ฝ่าฝืนมาตรา 16 บทลงโทษตามมาตรา 90 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท
เลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีการใช้ยาสำหรับสัตว์และวัตถุอันตรายอย่างไม่ถูกต้อง เช่น การให้ยาในปริมาณที่สูงเป็นระยะเวลานาน โดยไม่ได้ปรึกษาสัตวแพทย์ อาจทำให้สัตว์นั้นได้รับอันตราย อย่างเช่น ยารักษาโรคพยาธิหัวใจในสัตว์ เช่น ยาไอเวอร์เมคติน หากมีการใช้ในปริมาณสูง จะมีอันตรายต่อสุนัขบางสายพันธ์ ทำให้ได้รับอันตรายถึงชีวิต ยาคุมสำหรับสัตว์ หากใช้ระยะเวลานาน จะมีผลทำให้มดลูกในสัตว์อักเสบ และยาฆ่าเชื้อ เพื่อรักษาการ ติดเชื้อในสัตว์ อาจทำให้สัตว์นั้นดื้อยา นอกจากนี้ ยาและวัตถุอันตรายบางชนิดมีผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น มีพิษต่อตับ ไต ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท รวมถึงระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้ จึงขอเตือนมายังผู้ผลิตและจำหน่ายยาและวัตถุอันตรายสำหรับสัตว์อย่าได้ฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นลักลอบผลิตโดยไม่ได้ขออนุญาต หรือการจำหน่ายยาสำหรับสัตว์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน เพราะอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อตัวสัตว์ ขอให้คำนึงไว้เสมอว่า สัตว์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์ ควรให้ความสำคัญในการใช้ยาและวัตถุอันตรายใดๆ ในสัตว์ เพื่อรักษาโรคหรือป้องกันโรคด้วย รวมทั้ง ขอให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้ยาและวัตถุอันตรายสำหรับสัตว์ โดยเลือกใช้ยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายจาก อย. และควรใช้ภายใต้การควบคุมและกำกับดูแลของสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง หรือต้องมีใบสั่งยาจากสัตวแพทย์ชั้นหนึ่งในกรณีที่เป็นยาควบคุมพิเศษ อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคท่านใดพบเห็นการผลิต/จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่คาดว่าจะเป็นอันตราย โปรดแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่พบการกระทำผิดนั้นๆ นอกจากนี้ยังสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 เพื่อ อย. จะได้ร่วมกับ บก.ปคบ. ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด