อย. เผยดำเนินคดีช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายจำนวนมากถึง 122 ราย ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ และเครื่องสำอางทางสื่อต่าง ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต และโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโฆษณาเข้าข่ายเป็นยา ทำให้เสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้อง พร้อมเตือนผู้ประกอบการ หากกระทำผิดซ้ำจะได้รับโทษทวีคูณ สำหรับผู้บริโภค หากพบเบาะแสการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หรือพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายขอให้แจ้งที่ อย. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อดำเนินการให้หลาบจำ
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และโฆษกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง หากพบการโฆษณาที่ไม่ได้ขออนุญาตหรือมีการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหลอกลวงผู้บริโภคให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ จะมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด ทั้งการเปรียบเทียบปรับ ดำเนินคดี และแจ้งให้เจ้าของผลิตภัณฑ์และสื่อโฆษณาระงับการโฆษณาทันที พร้อมทั้งส่งข้อมูลให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยบูรณาการการทำงานร่วมกัน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก. ปคบ.) สำหรับในส่วนภูมิภาคมอบให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการในช่วงเดือนธันวาคม 2556 อย. ได้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการจำนวนทั้งสิ้น 122 คดี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,728,500 บาท พบว่าเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตในผลิตภัณฑ์อาหารมากถึง 51 คดี รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์ยา 22 คดี ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ 1 คดี เครื่องสำอาง 2 คดี และคดีอื่นๆ อีก 46 คดี ส่วนมากพบการโฆษณาทางนิตยสาร โทรทัศน์ดาวเทียม และเว็บไซต์ โดยพบโฆษณาในลักษณะโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และไม่ได้ขออนุญาตโฆษณา ในผลิตภัณฑ์นม เช่น “ แสดงประโยชน์ลักษณะน้ำนมแพะคล้ายกับนมคน มีโปรตีนที่มีโครงสร้างใกล้เคียงนมคน ย่อยง่ายช่วยลดปฏิกิริยาการเกิดภูมิแพ้ ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่ทำให้ท้องผูก แสดงประโยชน์ในลักษณะมีโฟเลตสูง ช่วยป้องกันความพิการของลูกในครรภ์ เป็นต้น” ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “ระบุข้อความคุณแน่ใจหรือ? แค่แคลเซียม จะเพียงพอต่อกระดูกคุณ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ให้มากกว่าแคลเซียม เป็นต้น” อ้างช่วยคุมน้ำหนัก เผาผลาญไขมัน ทำให้ผิวพรรณสวยเปล่งปลั่งกระจ่างใส ช่วยลดอาการปวดข้อ ปวดกระดูก เสริมสร้างส่วนที่สึกหรอของร่างกาย บำรุงตับ บำรุงประสาทและสมอง เสริมสร้างความจำและป้องกันโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น ” ซึ่งข้อความโฆษณาเหล่านี้ล้วนเป็นการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตและเข้าข่ายหลอกลวงโอ้อวดเกินจริงทั้งสิ้น เพราะผลิตภัณฑ์อาหารไม่ใช่ยา ไม่สามารถอวดอ้างรักษาโรคได้ สำหรับผลิตภัณฑ์ยา พบการโฆษณาขายยาโดยแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ โฆษณาขายยาโดยมีการรับรองหรือยกย่องสรรพคุณโดยบุคคลอื่น และโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น “ระบุมีสรรพคุณบำรุงร่างกายสำหรับผู้หญิง รักษาอาการปวดท้องปวดประจำเดือน เลือดออกเป็นลิ่ม..เป็นต้น” “อ้างช่วยเสริมสร้างกำลังให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยบำรุงปอดและหัวใจ มีส่วนในการบำรุงสมอง ช่วยปรับระบบประสาทให้สมดุล อ้างรักษาโรคมะเร็ง หัวใจ เบาหวาน อัมพฤกต์ อัมพาต” ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ พบการโฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง พบการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง เป็นต้น
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล กล่าวในตอนท้ายว่า ขอเตือนประชาชนอย่าได้ซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้ขออนุญาต จาก อย. ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และอย่าหลงเชื่อการโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองเงินทองโดยไม่ได้ผลตามที่โฆษณาอวดอ้าง มิหนำซ้ำยังอาจได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์นั้น หรือเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้อง ทั้งนี้ อย. ได้มีการดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ ในความรับผิดชอบของ อย.เป็นประจำสม่ำเสมอ โดยผู้สนใจสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้กระทำผิดพร้อมรายละเอียด ได้ทางเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th คลิก “ ผลการดำเนินคดี ” เพื่อเป็นข้อมูลในการเฝ้าระวัง และหากพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ต้องขออนุญาตจาก อย. แต่ไม่ขออนุญาต หรือพบการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค ขอให้ร้องเรียนมายังสายด่วน อย. โทร. 1556 เพื่อ อย. จะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป