
อย. เตือน ผลิตภัณฑ์แคปซูลผงบุกอันตราย หลังพบหญิงสาวได้รับอันตรายจากการแพ้ยาอย่างรุนแรง ส่งตรวจวิเคราะห์พบ มีส่วนผสมของยาไซบูทรามีน จัดเป็นยาปลอม ใช้เลขทะเบียนยาที่ถูกยกเลิกแล้ว ระวัง ! หากซื้อมาบริโภคอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต อย. ยัน ได้ยกเลิกทะเบียนตำรับยาทุกตำรับที่มีส่วนประกอบยาไซบูทรามีนแล้วตั้งแต่ปี 2553 พร้อมแนะผู้บริโภค ควรลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หากจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ต้องเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เชื่อถือได้ และพิจารณาอ่านฉลากก่อนซื้อ
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะโฆษก อย. เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวหญิงสาวซื้อแคปซูลผงบุกมาบริโภคเพื่อต้องการลดความอ้วน แต่กลับมีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง มีแผลตามเยื่อบุต่าง ๆ ผิวหนังหลุดลอกคล้ายถูกไฟไหม้ โดยเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสกลนคร แพทย์ระบุว่าเป็นอาการแพ้ยา ซึ่งจากการตรวจสอบโดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์พบผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมของยาไซบูทรามีน นั้น ในส่วนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์แคปซูลผงบุกอันตรายดังกล่าว พบระบุเลขทะเบียนตำรับยา G 228/47 ซึ่งเป็นเลขทะเบียนยาที่ถูกยกเลิกแล้ว ถือเป็นยาปลอม สำหรับกรณีการตรวจพบยาไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์นั้น ถือว่าผิดกฎหมายเช่นกัน เพราะปัจจุบัน อย. ได้เพิกถอนยาไซบูทรามีนออกจากตลาดแล้ว เนื่องจากข้อมูลการทดลองทางคลินิกชี้ให้เห็นว่า ยาดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงต่อกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งจะเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังมีอาการที่พบบ่อยคือ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และท้องผูก เป็นต้น
รองเลขาธิการฯ อย. ในฐานะ โฆษก อย. กล่าวต่อไปว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อย. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ซึ่ง อย. ได้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดที่เป็นแหล่งขายส่งผลิตภัณฑ์ตามกฎหมายหลายครั้งแล้ว และได้เตือนถึงอันตรายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ผงบุกแคปซูลดังกล่าวมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม การลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนสามารถทำได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้ถูกต้องและครบทั้ง 5 หมู่ ไม่กินจุบกินจิบ หมั่นออกกำลังกายอย่างเหมาะสมต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้แจ่มใส นอกจากจะทำให้มีสุขภาพดีแล้ว ยังทำให้น้ำหนักตัวลดลงได้อย่างยั่งยืนด้วย ทั้งนี้ ขอให้ผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพใด ๆ ที่โฆษณาในลักษณะโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เพราะล้วนแต่เป็นเรื่องหลอกลวง เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารจะไม่สามารถลดความอ้วนได้ โดยผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพจากแหล่งที่เชื่อถือได้ รวมทั้งควรพิจารณาและอ่านฉลากให้ถ้วนถี่เสียก่อน อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องแสดงฉลากภาษาไทย ชื่อที่อยู่ผู้ผลิต/นำเข้า เลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. แสดงวันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดอายุของผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ยา ฉลากระบุชื่อผลิตภัณฑ์ เลขทะเบียนตำรับยา เช่น ทะเบียนยาเลขที่ 1A 9999/46, ทะเบียนยาเลขที่ G 999/45 ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ครั้งที่ผลิต ครั้งที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตส่วนประกอบ สรรพคุณ วิธีใช้ คำเตือน ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวัง วันสิ้นอายุของยา เป็นต้น หากผู้บริโภคพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดเกินจริง หรือได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขอให้ร้องเรียนที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะดำเนินการปราบปราม และดำเนินคดีตามกฎหมายกับกระทำผิดต่อไป