
อย.เดินหน้างานคุ้มครองผู้บริโภค จับมือ บก.ปคบ. บุกจับผลิตภัณฑ์อาหารปลอม ย่านภาษีเจริญหลังผู้บริโภคร้องเรียนมีโกดังเก็บสินค้าหลายชนิดที่ไม่มี อย. ตรวจพบผลิตภัณฑ์น้ำกระเทียมดองชนิดขวดพลาสติก สีขาวขุ่นแสดงเลขสารบบปลอม , น้ำกระเทียมดองและน้ำมะนาวชนิดถ้วยพลาสติก ที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง รวมทั้งซอสเย็นตาโฟบรรจุขวดพลาสติกสีขาวขุ่นแสดงฉลากไม่ถูกต้องด้วย ยึดของกลางกว่า 5 แสนบาท พร้อมกับทลายแหล่งลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ ยี่ห้อ FUCO ย่านประชาอุทิศ 44 ที่โฆษณาอวดสรรพคุณเกินจริงผิดกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ ยึดของกลางมูลค่ากว่า 3 แสนบาท เตือนผู้บริโภค อย่าได้หลงเชื่อการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารใดใดที่อ้างทำให้หุ่นดี ลดน้ำหนัก นอกจากเสียเงินโดยไม่จำเป็น หากท่านมีโรคประจำตัวอาจได้รับอันตรายได้
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำทีมโดย พล.ต.ต. นรศักดิ์ เหมนิธิ ผบก. ปคบ. , พ.ต.อ.วุฒิชาติ เลื่อนสุคันธ์ ผกก.4 บก.ปคบ. , พ.ต.ท.นิทัศน์ จิตตวิทยานุกูล รอง ผกก. 4 บก.ปคบ. และ พ.ต.ท.อภิชัย ไลออน สว.กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค ขอให้ตรวจสอบโกดังเก็บสินค้า หลายชนิดสำหรับขายส่งที่ไม่มี อย. ย่านภาษีเจริญ ดังนั้น อย. จึงประสานไปยังตำรวจ บก.ปคบ. ทำการสืบสวนและนำหมายค้นเข้าตรวจสอบบ้านเลขที่ 33/80 ซอยศาลธนบุรี 27 แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ผลการตรวจสอบพบการกระทำที่ผิดกฎหมาย ดังนี้
1. พบเครื่องมือ อุปกรณ์การผลิต วัตถุดิบและภาชนะในการผลิต น้ำกระเทียมดอง 3 รส ตราครัวไทย และจากการตรวจสอบขวดบรรจุน้ำกระเทียมดองดังกล่าว พบเลขสารบบอาหาร 10-1-08250-1-0036 ซึ่งเจ้าหน้าที่ อย. ตรวจสอบเลขสารบบอาหารดังกล่าวพบว่าไม่ใช่เลขสารบบอาหารของน้ำกระเทียมดอง ตรา ครัวไทย แต่อย่างใด จึงจัดว่าเป็นอาหารปลอม
2. พบผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ได้แก่ ซอสเย็นตาโฟ บรรจุขวดพลาสติกสีขาวขุ่นปิดสนิท ฉลากระบุ “ซอสแดงเย็นตาโฟ ตรานก” , น้ำกระเทียมดองและน้ำมะนาวดองบรรจุในถ้วยพลาสติกปิดสนิท
3. สุขลักษณะสถานที่ผลิตไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
อย. จึงยึดของกลาง มูลค่าประมาณ 5 แสนบาท พร้อมแจ้งดำเนินคดีเบื้องต้นในข้อหา
1. ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารที่มีฉลากเพื่อลวง จัดเป็นอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันถึง 1 แสนบาท
2. ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท
3. ผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายจากสถานที่ผลิตที่มีสุขลักษณะไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด มีโทษ
ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท
นอกจากนี้ อย. ยังได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่ามีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ ยี่ห้อ FUCO ทั้ง FUCO PURE และ FUCO BURN ที่โฆษณาอวดสรรพคุณเกินจริง เช่น ลดระดับโคเลสเตอรอล ทำให้หุ่นดี หุ่นสวย ฯลฯ ผ่านทางหลายเว็บไซต์ อาทิ www.ilovefucopure.com , www.lifedoodee.com , www.fucopurethai.com , www.fuconerbshop.com และ www.fuco-burn.com ดังนั้น เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2557 อย. ร่วมกับชุดปฏิบัติการที่ 1 กก.4 บก.ปคบ. โดย พ.ต.ท.นพดล ปิ่นพงศ์พันธ์ สว.ฯ กับพวก ได้ออกสืบสวนขยายผลการลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนำเข้าจากต่างประเทศและโฆษณาเกินจริงทางเว็บไซต์ดังกล่าว พบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ FUCO จำนวนมาก จึงยึดของกลางกว่า 3 แสนบาท พร้อมจับกุมผู้กระทำความผิด 1 ราย นำส่งดำเนินคดี ในเบื้องต้นแจ้งข้อหา
1. จำหน่ายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง และยังไม่ได้รับอนุญาตเลขสารบบอาหาร มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
2. โฆษณาอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการ ฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีพ่อค้าหัวใสโพสต์สินค้าขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ถูกกฎหมายหลากหลายชนิดผ่านทางเว็บไซต์และเฟสบุ๊ค โฆษณาชวนเชื่อโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เป็นสินค้าจากต่างประเทศ หรืออ้างว่ารักษาโรคต่าง ๆ มีคุณภาพดีกว่าสินค้าอื่น ๆ ที่จำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งในความเป็นจริงผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอาจไม่มีคุณภาพ แสดงฉลากไม่ถูกต้อง และบางอย่าง ก็ไม่ผ่านการขออนุญาตจาก อย. อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ FUCO ที่มีการแถลงข่าวดังกล่าว ขอแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์ FUCO ทุกรุ่น ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่เคยมีการขออนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายกับ อย. แต่อย่างใด จึงขอให้ผู้บริโภคอย่าได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้เด็ดขาดเพราะนอกจากเสียเงินทองจำนวนมากแล้ว อาจไม่ได้ผลตามที่โฆษณา แถมอาจได้รับความเสี่ยงจากการใช้โดยไม่รู้ตัว ดังนั้น การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร ขอให้สังเกตผลิตภัณฑ์อาหารนั้น ๆ ว่ามีการขออนุญาตจาก อย. หรือไม่ โดยต้องมีข้อมูลผลิตภัณฑ์บนฉลากและมีเลขสารบบอาหาร ในกรอบเครื่องหมาย อย. ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบเครื่องหมาย อย. จาก www.fda.moph.go.th ว่ามีการขออนุญาตจาก อย. จริงหรือไม่ หรือโทรสอบถามที่สายด่วน อย. 1556 อีกทั้ง หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้ผ่านการขออนุญาตจาก อย. หรือพบการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค ขอให้ร้องเรียนมายังสายด่วน อย. 1556 หรือทาง Oryor Smart Application หรือสายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือผ่านทางสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เพื่อตรวจสอบติดตามจับกุมผู้กระทำความผิด คุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคต่อไป