อย. ร่วมกับ บก.ปคบ. ลุยต่อจับผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย หลังผู้บริโภคร้องเรียนพบความผิดปกติในร่างกายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก จับมือ สสจ.สุพรรณบุรี รุดตรวจสอบสถานที่ผลิตอาหารย่านสุพรรณทันที พบผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายชนิดแสดงฉลากไม่ถูกต้อง อวดสรรพคุณลดน้ำหนัก พร้อมพบวัตถุดิบที่สงสัยเป็นยาลดความอ้วน และบางผลิตภัณฑ์เคยตรวจพบลักลอบใส่ยาไซบูทรามีน ซึ่ง อย. ได้ดำเนินคดีและเปรียบเทียบปรับหลายครั้งแล้ว แต่ไม่หลาบจำ ยึดของกลางทุกผลิตภัณฑ์ในโรงงาน ส่งดำเนินคดีอย่างเข้มงวด มูลค่า 10 ล้านบาท เตือนผู้บริโภค อย่าได้หลงเชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆ ที่อ้างลดน้ำหนัก ซึ่งส่วนใหญ่มักตรวจพบลักลอบใส่ยาไซบูทรามีน อันตราย หากมีโรคประจำตัวอาจทำให้เสียชีวิตได้ และเป็นยาที่ อย. เพิกถอนทะเบียนตำรับแล้ว
เจ้าหน้าที่ อย. ภายใต้การอำนวยการของ นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำทีมโดย พล.ต.ต.นรศักดิ์ เหมนิธิ ผบก. ปคบ., พ.ต.อ.วุฒิชาติ เลื่อนสุคันธ์ ผกก.4 บก.ปคบ. และ พ.ต.ท.นิทัศน์ จิตตวิทยานุกูล รอง ผกก. 4 บก.ปคบ. ร่วมกันแถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า จากนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เร่งปราบปรามผู้กระทำผิดลักลอบขายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่จำหน่ายตามท้องตลาด เพื่อมิให้ผู้บริโภคได้รับอันตราย มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุข นั้น อย. ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว และร่วมมือกับตำรวจ บก.ปคบ. ในการตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ล่าสุดหลังจากที่ อย. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนมากว่า รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก Pure Slim Capsule BY Nanthaka เลขสารบบอาหาร 12-1-08152-1-0073 และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มิราเคิล สริม โกลด์ มีอาการปากแห้งผิดปกติ ใจสั่น จนต้องเข้าโรงพยาบาล พบว่าความดันโลหิตสูงกว่าปกติ โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มิราเคิล สริม โกลด์ นั้น อย. ได้เคยส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่ามีการลักลอบใส่ยาแผนปัจจุบันยาไซบูทรามีน (Sibutramine) ซึ่ง อย. ได้ดำเนินคดีและเปรียบเทียบปรับกับผู้ผลิตหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่เข็ดหลาบ ดังนั้น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้บริโภค เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ อย. ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี นำหมายค้นของศาลแขวงสุพรรณบุรี ที่ 4/2557 เข้าตรวจสอบบริษัท คิงส์ เฮล์ทตี้ เนเจอร์โปรดักส์ จำกัด เลขที่ 34/1 หมู่ที่ 12 ต.วังลึก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี ซึ่งผลการตรวจสอบเบื้องต้น พบการกระทำความผิด ดังนี้
1. สถานที่ผลิตดังกล่าวยังไม่ได้รับใบอนุญาตผลิตอาหาร โดยขณะตรวจพบมีการผลิตอาหารโดยใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรในการผลิตอาหาร มีกำลังแรงม้าเปรียบเทียบรวม 53.96 แรงม้า คนงานประมาณ 30 คน ผลการตรวจประเมินสถานที่ผลิตอาหารไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร หรือ GMP
2. พบกำลังผลิตอาหารบางรายการที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง และอาจเข้าข่ายแสดงฉลากเพื่อลวง หรือพยายามลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์ หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่นในเรื่องของสถานที่ผลิตและประเทศที่ผลิต ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กาแฟปรุงสำเร็จ ตรารีเชฟ เลขสารบบอาหารที่ อย. 12-1-08152-2-0005 , ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพียวไวท์ เลขสารบบอาหารที่ อย. 12-1-08152-1-0036 และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บูมบูม สูตรบิวทิ ฟิท เลขสารบบอาหารที่ อย. 12-1-08152-1-0042 โดยฉลากผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้น ระบุเลขสารบบอาหาร และแสดงเลขที่ตั้งของผู้ผลิตอาหารที่อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดนนทบุรี คือ บริษัท ยินดี เนเจอร์ โปรดักส์ จำกัด เลขที่ 99/32 ถ.ราชพฤกษ์ ต.ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งไม่ตรงตามข้อเท็จจริงในระหว่างการตรวจสอบ จึงถือว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง และเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารปลอม
3. เจ้าหน้าที่ได้ยึดผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมจำหน่ายทั้งหมดในสถานที่ผลิต และผลิตภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างกระบวนการผลิต กล่องบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งวัตถุดิบในการผลิต นอกจากนี้ยังอายัดเครื่องจักร อุปกรณ์การผลิตด้วยมีรายละเอียดดังนี้
1. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สลิม เพอร์เฟ็กซ์ (Slim Perfect) จำนวน 5,000 กล่อง
2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไฮโซ สเลนดา (Hiso Slenda) จำนวน 7,500 กล่อง
3. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กู๊ดลั๋ค (Good Luck) จำนวน 5,156 กล่อง
4. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บิกินนี่ บูมส์ จำนวน 1,766 กล่อง
5. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดับเบิ้ล S จำนวน 440 กล่อง
6. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แคปซูล ไฮโซ จำนวน 40,000 กล่อง
7. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แคปซูล บิกินนี่ จำนวน 30,000 กล่อง
8. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กลูต้า แคปซูล จำนวน 20,000 กล่อง
9. แผงแคปซูลของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บิกินนี่ บูมส์ จำนวน 4,526 แผง
10. วัตถุดิบว่านชักมดลูก สำหรับผสมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบิกินนี่ 5 ถุงๆ ละ 20 กิโลกรัม รวม 100 กิโลกรัม
11. กล่องบรรจุผลิตภัณฑ์ Top Model จำนวน 10,000 กล่อง , และบิกินนี่ บูมส์ จำนวน 10,000 กล่อง
12. วัตถุดิบในการผลิตหลายรายการ
13. สารลักษณะผงสีขาว ใช้ในการผสมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งสงสัยว่าเป็นยาไซบูทรามีน จำนวน 300 กรัม
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างเพื่อดำเนินคดีและส่งตรวจวิเคราะห์หาสารอันตรายต่อไป มูลค่าของกลางรวมประมาณ 10 ล้านบาท ส่วนของการดำเนินคดี ในเบื้องต้นได้แจ้งข้อหา ดังนี้
1. สถานที่ไม่ได้รับใบอนุญาตผลิตอาหาร มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. สถานที่ผลิตอาหารมีสุขลักษณะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร หรือ GMP มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
3. ผลิตและจำหน่ายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
4. ผลิตและจำหน่ายอาหารปลอม เนื่องจากแสดงฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดในเรื่องของสถานที่ผลิต มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท
5. หากผลการตรวจวิเคราะห์ พบยาลดความอ้วนไซบูทรามีน หรือยาอื่น ๆ จะจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเตือนมายังผู้บริโภคให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวมาบริโภค อย่าได้หลงคารมผู้ขายว่าเป็นสามารถลดความอ้วนได้ผล โดยเฉพาะกาแฟสำเร็จรูปลดความอ้วนต่าง ๆ เพราะกาแฟหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้ อย.เคยส่งตรวจวิเคราะห์และผลตรวจพบใส่ยาลดความอ้วนไซบูทรามีน ซึ่งเป็นอันตรายต่อการบริโภค เนื่องจากยาดังกล่าวมีผลข้างเคียงสูง ต้องใช้โดยความดูแลของแพทย์ ทั้งนี้ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็ว แม้จะไม่มากนัก แต่มีผลให้ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 5 จำเป็นต้องหยุดยา ส่วนผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้แก่ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และท้องผูก เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน อย. ได้เพิกถอนทะเบียนตำรับยาไซบูทรามีนแล้ว หากต้องการลดหรือควบคุมน้ำหนักไม่จำเป็นต้องเสี่ยงบริโภคผลิตภัณฑ์กาแฟ หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่าง ๆ ควรควบคุมการบริโภคอาหารร่วมกับการออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน หากผู้บริโภคพบเห็นการผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย แจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดที่พบปัญหานั้น หรือที่ บก.ปคบ. สายด่วน บก.ปคบ. 1135 เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด