อย.เผย ลักษณะผลิตภัณฑ์สุขภาพต้องห้าม อย่าซื้อ อย่าใช้ มอบคาถา 4 ไม่ ป้องกันก่อนแก้
อย. เตือนผู้บริโภค อย่าเชื่อ อย่าซื้อ ผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง ต้องห้าม พร้อมมอบ คาถา 4 ไม่ที่ต้องไม่ซื้อไม่ใช้เด็ดขาด คือ 1. ไม่มีฉลากภาษาไทย 2. ไม่ขออนุญาตกับ อย. 3. ไม่แสดงชื่อที่ตั้งผู้ผลิต 4. ไม่บอกความจริงผู้บริโภค หรือโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และในฐานะโฆษก อย. เปิดเผยถึงลักษณะของผลิตภัณฑ์สุขภาพต้องห้ามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย.) มักตรวจพบอยู่เสมอ เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่มีเครื่องหมาย อย. อาหารปลอม อาหารหมดอายุ ไม่มีฉลากภาษาไทย และโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณเสริมสมรรถภาพ ทางเพศ อ้างช่วยลดน้ำหนัก อ้างทำให้หน้าอกโต และอ้างทำให้ผิวขาวเนียน ผลิตภัณฑ์ยา ไม่แสดงเลขทะเบียนตำรับ สถานตั้งผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ยาที่ไม่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียน เช่น ยาฉีดสำหรับผิวขาวใส กลูต้าไธโอน ยาลดความอ้วนผสมสารไซบูทรามีน และยาที่เพิกถอนทะเบียนตำรับยาแล้ว เช่น ไซบูทรามีน ยาที่อ้างรักษาโรคมะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิต อ้างว่าเป็นยาบำรุงกาม ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง อ้างทำให้โครงหน้ายกกระชับ ขยายทรวงอก อ้างรักษาสิว ช่วยกระชับช่องคลอด
ด้วยความห่วงใย อย.จึงขอมอบคาถา 4 ไม่ หากมีลักษณะดังนี้ต้องไม่ซื้อ ไม่ใช้เด็ดขาด คือ 1. ไม่มีฉลากภาษาไทย ซึ่งฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องสำอาง ต้องแสดงฉลากภาษาไทย พิมพ์ด้วยอักษรที่ชัดเจน และมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ชื่อผลิตภัณฑ์ วันเดือนปีที่ผลิต และ/หรือ วันเดือนปีที่หมดอายุ ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต เป็นต้น 2. ไม่ขออนุญาตกับ อย. ซึ่งผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. แล้ว ดูได้จากผลิตภัณฑ์อาหารต้องมีเลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. ส่วนผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ไม่ต้องมีเครื่องหมาย อย. บนฉลาก แต่ยาจะต้องแสดงเลขทะเบียนตำรับยา เช่น ทะเบียนยาเลขที่ 1A 9999/46 เครื่องสำอางต้องมีเลขที่ใบรับแจ้ง 10 หลัก 3. ไม่แสดงชื่อที่ตั้งผู้ผลิต หากพบว่าไม่แสดงหลักแหล่งผู้ผลิตที่ชัดเจนจะถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ เพราะเมื่อพบปัญหาก็ไม่สามารถร้องเรียนและเอาผิดกับผู้ผลิตนั้นได้ และ 4. ไม่บอกความจริงผู้บริโภค หรือโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทำให้เสียโอกาสในการรักษาอย่างถูกต้องจากแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังต่าง ๆ เพราะหากบริโภคผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่ารักษาโรคได้ จนละเลยการไปพบแพทย์ หรือละเลยการใช้ยาประจำตัวอาจทำให้โรคกำเริบจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ รองเลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด