
อย. เอาจริง ลุยจับมือกับเจ้าหน้าที่ทหาร ช. พัน. 1 รอ. เดินหน้ากวาดล้างร้านขายยาในเขต กทม. ที่ลักลอบจำหน่ายยาน้ำแก้ไอ ให้แก่เยาวชนอายุต่ำกว่า 17 ปี หลังผู้ปกครองร้องเรียนไปยัง คสช. มีร้านขายยาจำนวนมากจำหน่ายยาน้ำแก้ไอให้กับวัยรุ่นนำไปผสมใบกระท่อม ยาแก้ปวด และผลิตเป็นยาเสพติด 4x100 ตรวจพบร้าน ขายยากระทำผิดกฎหมาย ย่านรามคำแหง จำนวน 11 ร้าน ยึดยาแก้ไอมูลค่าประมาณ 3 ล้านบาท แจ้งข้อหาหลายคดี ย้ำ! ขอให้ร้านขายยาทุกร้านปฏิบัติตามกฎหมาย หากพบ การกระทำผิด นอกจากมีโทษทั้งจำและปรับแล้ว อาจถูกลงโทษถึงขั้นพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขายยา สำหรับเภสัชกรที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ให้ความร่วมมือกับทางราชการ อาจถูกส่งเรื่องให้สภาเภสัชกรรมลงโทษทางจรรยาบรรณด้วย
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ พันโทกิตติ คงหอม ผู้บังคับกองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่มีประชาชนร้องเรียน ไปยัง คสช. ว่า มีร้านขายยาย่านรามคำแห่งจำหน่ายยาน้ำแก้ไอให้กับวัยรุ่นนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยนำไปผสมเป็นยาเสพติดประเภท 4x100 ซึ่งบางร้านได้เคยถูกเจ้าหน้าที่ อย. ตักเตือนแล้ว แต่ยังมีพฤติกรรมจำหน่ายยาน้ำแก้ไอให้กับวัยรุ่นอยู่เช่นเดิม ดังนั้น เพื่อกวาดล้างร้านขายยาที่กระทำผิดกฎหมายและปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 เจ้าหน้าที่ทหาร จากกองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ และจากกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ จากจังหวัดสระแก้ว ได้ประสานมายัง อย. ให้ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบร้านขายยาบริเวณแถวมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ภายในซอยรามคำแหง 53 และรามคำแหง 65) และทำการล่อซื้อยาน้ำแก้ไอเพื่อเป็นหลักฐาน ปรากฏพบมีร้านขายยาที่กระทำผิดฝ่าฝืนกฎหมาย จำนวน 11 ร้าน ดังนี้
1. ร้านสุขภาพและยา 7. ร้านเรือนยา 53
2. ร้านฟาร์มาซีพลัส 8. ร้านหมอยา 53
3. ร้านยาดีดรักส์ 9. ร้านดีดรัก 112
4. ร้านสามัคคีเภสัช 10. ร้านเพชรสมุทรเภสัช
5. ร้านคลังยาสมบัติ 11. ร้านรวมยา
6. ร้านคลังยาสมบัติ สาขา 2
ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบ พบว่าร้านขายยาดังกล่าวมียาน้ำแก้ไอไว้ขายเป็นจำนวนหลายยี่ห้อและมีปริมาณรวมกันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้การตรวจสอบข้อมูลการจัดทำบัญชีการซื้อยา พบว่าบางร้านไม่ได้จัดทำบัญชีและบางร้านจัดทำบัญชีแต่ลงรายละเอียดของข้อมูลไม่ถูกต้อง ครบถ้วน ดังนั้นเจ้าหน้าที่ทหารจึงได้ใช้อำนาจตามประกาศกฎอัยการศึกตาม พรบ.ความมั่นคง ยึดยาน้ำแก้ไอที่ตรวจพบทั้งหมด เพื่อนำส่งพนักงานสอบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินคดีกับร้านขายยาดังกล่าวต่อไป รวมมูลค่าของกลางที่ยึดได้ประมาณ 3 ล้านบาท
ในเบื้องต้น ได้แจ้งข้อหาดำเนินคดี ดังนี้
1. ขายยาอันตรายในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ มีโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท
2. ไม่จัดทำบัญชียาที่ซื้อและขายตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง มีโทษปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท
3. ขายยาแผนปัจจุบันนอกเวลาทำการ มีโทษปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท
4. เภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการไม่อยู่ประจำ ณ สถานที่ขายยาแผนปัจจุบันตลอดเวลาที่เปิดทำการ มีโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท
5. เภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการไม่ควบคุมการจัดทำบัญชียา ปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. กล่าวต่อไปว่า อย. ยังคงมีมาตรการเข้มงวดกับการควบคุมการจำหน่ายยาน้ำแก้ไอตามร้านขายยาทุกแห่งทั่วประเทศ และได้ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดให้ออกตรวจสอบร้านขายยาอย่างต่อเนื่องและเข้มงวด ตามประกาศฯ เรื่อง การควบคุมการจำหน่ายยาน้ำแก้ไอที่มีไดเฟนไฮดรามีน หรือ โปรเมทาซีน หรือ เดกซ์โตรเมธอร์แฟน เป็นส่วนประกอบโดยจำกัดปริมาณการจำหน่ายจากผู้ผลิตไปยังร้านขายยาไม่เกิน 300 ขวดต่อแห่งต่อเดือน และจำกัดการขาย ไม่ควรจ่ายยาเกินครั้งละ 3 ขวด เพื่อป้องกันการนำยาดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ ดังนั้น อย. ขอเตือนร้านขายยาทุกแห่ง อย่าได้จำหน่ายยาแก้ไอให้แก่กลุ่มวัยรุ่นหรือบุคคลใดที่คาดว่าจะนำไปใช้ ในทางที่ผิด ถ้าตรวจพบว่ามีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายจะดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนทุกรายถึงขั้นพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตขายยา และส่งเรื่องให้สภาเภสัชกรรมพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องจรรยาบรรณของผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในร้านขายยาที่มีปัญหาทุกแห่ง ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจการดำเนินงานของ อย. ที่จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทหาร และตำรวจ ในการทำหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้บริโภคอย่างเข้มแข็ง หากผู้บริโภคพบข้อมูลยาใดที่ใช้แล้วเป็นอันตรายต่อร่างกาย อย. จะรีบตรวจสอบและจัดทำข่าวเผยแพร่ให้ทราบโดยเร็วที่สุด และสามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556
กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค วันที่ 27 สิงหาคม 2557 แถลงข่าว 19 / ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 |