กรณีข่าวหญิงสาวพักอยู่คอนโดย่านนนทบุรีเสียชีวิตจากภาวะช็อก ซึ่งคาดว่าสาเหตุอาจเกิดจากการกินยาขับผิวและยาเพิ่มขนาดหน้าอก นั้น อย. เผย ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุการตายเกิดจากอะไร ต้องรอผลชันสูตรอย่างละเอียด รวมทั้งรอผลการตรวจวิเคราะห์ว่ายาที่พบในที่เกิดเหตุเป็นยากลุ่มไหน เตือนหญิงสาวทุกรุ่น ทุกวัย อย่าหลงเชื่อโฆษณาขายยาผ่านทางอินเทอร์เน็ตที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หรือไปหาซื้อยามากินเองเด็ดขาด เพราะได้ผลไม่คุ้มกับเสีย
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะโฆษก อย. เปิดเผยว่า กรณีมีข่าวทางสื่อต่าง ๆ ว่าพบนักศึกษาสาวเสียชีวิตจากภาวะช็อกภายในคอนโดย่านนนทบุรี ซึ่งคาดว่าอาจเกิดจากการรับประทานยาขับผิวและยาเพิ่มขนาดหน้าอก ที่สั่งซื้อผ่านทางเว็บไซต์ นั้น อย. รู้สึกห่วงใยอย่างยิ่ง และขอแจ้งว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่แน่ชัดในการเสียชีวิตของนักศึกษาสาวว่าเกิดจากสาเหตุใด ต้องรอผลการชันสูตรอย่างละเอียดก่อน รวมทั้งรอผลการตรวจวิเคราะห์ว่ายาที่พบในสถานที่เกิดเหตุเป็นยาอะไร ตามข่าวระบุว่าอาจเกิดจากการใช้ยาขยายขนาดทรวงอก ซึ่งเป็นการคาดคะเนสาเหตุที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม อย. ไม่เคยรับขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีสรรพคุณดังกล่าว แต่ทั้งนี้อาจมีการนำยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีส่วนผสมของ เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ไปใช้ในปริมาณที่สูง โดยอาศัยผลข้างเคียงของยา คือ เกิดอาการคัดตึงที่เต้านม หน้าอกมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่การใช้ยาดังกล่าวมีโอกาสทำให้เกิดลิ่มเลือด มีเลือดออกกระปิดกระปอยในช่องคลอด ปวดศีรษะ อาเจียน มึนงง อ่อนเพลีย มีภาวะเลือดแข็งตัวมากผิดปกติ การใช้ยาคุมกำเนิดซึ่งเป็นยาฮอร์โมนดังกล่าวในปริมาณสูงมีข้อห้ามใช้หรือควรหลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง ซึ่งอาจทำให้เกิดหลอดเลือดอุดตัน เช่น ผู้ที่เป็นโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดอักเสบ ดังนั้น การใช้ยาในภาวะผู้ที่มีความเสี่ยงดังกล่าว ควรต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
กรณีการใช้ผลิตภัณฑ์กลูตาไธโอนที่พบในท้องตลาดส่วนใหญ่นั้นอยู่ในรูปยาเม็ดหรือผงละลายน้ำสำหรับรับประทาน ซึ่งกลูตาไธโอนสามารถถูกทำลายได้ในทางเดินอาหารของมนุษย์ ดังนั้นจึงไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ นอกจากนี้ ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของกลูตาโธโอนชนิดฉีดหรือรับประทานเพื่อให้ผิวขาวใสนั้น ยังไม่มีการพิสูจน์ผลที่ชัดเจน รวมทั้งความปลอดภัยในการใช้ยา ขอย้ำว่า ปัจจุบัน อย. ยังไม่เคยรับขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีสรรพคุณทำให้เพิ่มขนาดทรวงอก หรือยาฉีดที่ทำให้ผิวขาวแต่อย่างใด
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล กล่าวในตอนท้ายว่า อย. ขอเตือนผู้บริโภค โดยเฉพาะหญิงสาว อย่าซื้อยารับประทานเองผ่านทางอินเทอร์เน็ตเด็ดขาด เพราะมีความเสี่ยง อาจได้รับผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน หรือลักลอบผสมยาหรือสารอันตราย ไม่ให้ผลในการใช้หรือรักษา โดยผลิตภัณฑ์ ยา อาหาร เครื่องสำอาง ที่โฆษณาขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต มักเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาและได้รับข้อร้องเรียนอยู่เสมอ คือ ใช้แล้วไม่เห็นผล เสียเงินโดยไม่คุ้มค่า โรคที่เป็นรุนแรงขึ้น ได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์ เช่น การแพ้ ที่สำคัญ ในส่วนของการโฆษณาขายยาผ่านทางอินเทอร์เน็ต ถือเป็นโฆษณาที่หลอกลวงผู้บริโภค มีความผิดตามกฎหมาย เพราะ อย. ไม่เคยอนุญาตให้โฆษณายาใด ๆ ทางสื่ออินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มีข้อกำหนดชัดเจนเรื่องสถานที่ขายยาว่า ต้องไม่ขายนอกสถานที่ขายยาที่ระบุไว้ ตามใบอนุญาตขายยาที่กำหนด เพราะยาไม่ใช่สินค้าทั่วไป การซื้อยาจึงจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากผู้ปฏิบัติวิชาชีพโดยตรง การขายยาทางอินเทอร์เน็ต จึงเป็นการขายยานอกสถานที่ที่อนุญาต มีความผิดตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท รวมทั้งจะถือว่ามีความผิดฐานโฆษณาด้วย เพราะยา ถือเป็นสิ่งที่ไม่อนุญาตให้โฆษณา จะมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
“ ขอให้ผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อ ตกเป็นเหยื่อพวกที่กระทำผิดกฎหมาย หากพบการโฆษณาเป็นเท็จ หรือหลอกลวง สามารถร้องเรียนมายัง สายด่วน อย. 1556 เพื่อ อย. จะได้เร่งตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดทันที ”