อย.แจงกรณีข้อความส่งต่อทาง Line เกี่ยวกับการเพิกถอนยาฟีนิลโปรปาโนลามีน (PPA) เผยเป็นเรื่องเก่า เพราะมีการประกาศเพิกถอนทะเบียนยาทุกตำรับที่มีส่วนผสมของ PPA ไปแล้วตั้งแต่ ปี 2544 เนื่องจาก ยา PPA อาจเป็นสาเหตุทำให้ผู้ใช้ยาเกิดภาวะเลือดออกในสมอง ผู้ที่ได้รับยานี้อาจไม่ได้รับความปลอดภัยจากการใช้ยา ยืนยันไม่มีตำรับยาที่มีส่วนผสมของยาฟีนิลโปรปาโนลามีนอยู่เลยในประเทศไทย เป็นเวลากว่า 13 ปีแล้ว เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อข้อมูลที่มีการส่งต่อผ่านทาง Social media
ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลผ่านทาง Line ข้อความ “ประกาศเพิกถอนยา ขณะนี้อนุกรรมการควบคุมอันตรายจากการใช้ยา ได้มีมติในรอบแรกว่าให้เพิกถอนยาที่มีส่วนผสมของยาฟีนิลโปรปาโนลามีน (PPA) ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในสมองได้ ซึ่งมีรายชื่อดังต่อไปนี้ 1.ทิฟฟี่ 2.ดีคอลเจน 3.นูต้า 4.นูต้าโคล 5.ทิพทอพ 6.ฟาโคเจน7.โคลัยซาล 8.ไดมีเท็ป”นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอแจ้งว่าข้อความดังกล่าวเป็นเรื่องเก่า โดยในปี พ.ศ. 2543 อย. พบรายงานอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาฟีนิลโปรปาโนลามีน หรือ PPA ว่าอาจเป็นสาเหตุทำให้ผู้ใช้ยาเกิดภาวะเลือดออกในสมองได้ ซึ่งเป็นอาการอันไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง เมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถแก้ไขให้คืนดีดังเดิมได้ จึงได้สั่งให้ผู้ผลิตยา และผู้นำหรือสั่งยาเข้ามา ในราชอาณาจักรแก้ไขทะเบียนตำรับยาที่มีส่วนผสมของตัวยาฟีนิลโปรปาโนลามีน หรือ เกลือของฟีนิลโปรปาโนลามีน โดยตัดออกจากตำรับยาทุกตำรับ ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 1140/2543 เรื่อง แก้ไขทะเบียนตำรับซึ่งมียาฟีนิลโปรปาโนลามีน สั่ง ณ วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2543 โดยเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วทะเบียนตำรับยาที่ไม่ได้ตัด ตัวยาฟีนิลโปรปาโนลามีนออกจากสูตรตำรับ อย. ได้ดำเนินการ เพิกถอนทะเบียนตำรับแล้ว ซึ่งมีผลยกเลิกทะเบียนตำรับยาตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2544 สำหรับตัวยาที่มีการจำหน่ายตามท้องตลาดอยู่ในขณะนี้ได้มีการปรับสูตรยาให้เป็นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขแล้ว และขอยืนยันว่าไม่มีตำรับยาที่มีส่วนผสมของยาฟีนิลโปรปาโนลามีนอยู่เลยในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 13 ปี แล้ว ซึ่งรวมไปถึงตัวยาที่มีชื่อเผยแพร่ส่งต่อนั้นด้วย จึงขอให้ผู้บริโภควางใจ และ ขอเตือนอย่าได้หลงเชื่อข้อมูลที่มีการส่งต่อผ่านทาง Social media เพราะเป็นข้อมูลที่ไม่ปรากฏแหล่งที่มาและหลักฐานที่แน่ชัด
อย่างไรก็ตาม การเลือกซื้อยาทุกครั้งต้องดูเลขทะเบียนตำรับยาที่แสดงอยู่บนฉลาก ดูวันผลิตและวันหมดอายุบนฉลาก ไม่ควรซื้อยาที่หมดอายุเพราะนอกจากใช้ไม่ได้ผลแล้ว อาจทำให้เกิดอันตรายได้อีกด้วย ควรซื้อยาที่มีฉลาก และเอกสารกำกับยาครบถ้วน มีตัวหนังสืออ่านได้ชัดเจน ภาชนะบรรจุอยู่ในสภาพที่เรียบร้อย ยาที่บรรจุอยู่ก็ต้องมีสภาพดี สมบูรณ์ ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขอให้ร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย.โทร. 1556 หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 และร้องเรียน ผ่าน Oryor Smart Application เพื่อ อย.จะดำเนินการปราบปราม และดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดต่อไป รองเลขาธิการฯ อย.กล่าวในที่สุด