อย. ออกประกาศฯ ควบคุมความปลอดภัยของขวดนม และภาชนะบรรจุที่ใช้เลี้ยงทารก และเด็กเล็ก และลดโอกาสการเกิดปัญหาด้านสุขภาพของทารกและเด็กเล็กจากการได้รับสารบีพีเอ จากขวดนม โดย ลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 1 สิงหาคม 2558 เป็นต้นไป
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่มีประเด็นข้อกังวลต่อสารบิสฟีนอลเอ (บีพีเอ) ที่เป็นสารตั้งต้น ในการผลิตพลาสติกชนิด พอลิคาร์บอเนต ที่นำมาทำเป็นขวดนมและภาชนะบรรจุนมสำหรับทารก และเด็กเล็ก ทำให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการประเมินข้อมูลความปลอดภัยและทบทวนมาตรการทางกฎหมาย ที่มีอยู่ แม้ว่าขณะนี้องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ได้จัดสารบีพีเอเป็นสารก่อมะเร็ง และยังสรุปไม่ได้ว่ามีความเป็นพิษต่อพันธุกรรมของมนุษย์ในระดับยีน จากข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลองสารบีพีเออาจมีผลไปขัดขวาง การทำงานของฮอร์โมนเอสโทรเจนในร่างกาย ส่งผลกระทบต่อระบบการสืบพันธ์และระบบการผลิตฮอร์โมน เนื่องจากโครงสร้างของสารบีพีเอมีความคล้ายกับฮอร์โมนเอสโทรเจน นอกจากนี้ จากผลการประเมิน การได้รับสัมผัสสารบีพีเอของประชากรไทย พบว่ากลุ่มเด็กอายุ 0-3 ปี มีโอกาสได้รับสารบีพีเอสูงกว่าประชากรกลุ่มอื่น และการใช้ขวดนมพอลิคาร์บอเนตซ้ำ ๆ ระยะเวลาหนึ่งมีแนวโน้มปล่อยสารบีพีเอเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลที่สามารถสร้างความมั่นใจต่อความปลอดภัยของสารบีพีเอ ประกอบกับหลาย ๆ ประเทศได้ห้ามผลิตหรือจำหน่ายขวดนมพอลิคาร์บอเนตซึ่งมีสารบีพีเอแล้ว เช่น กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป แคนาดา เป็นต้น
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข โดย อย. จึงออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 369) พ.ศ. 2558 เรื่อง ขวดนม และภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็ก เพื่อกำหนดมาตรการควบคุม ความปลอดภัยของขวดนมที่มีสารบีพีเอและเป็นการทบทวนข้อกำหนดการใช้ ชนิด ตลอดจนคุณภาพมาตรฐานของวัสดุที่จะนำมาทำขวดนม รวมทั้งภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็ก ซึ่งตามกฎหมายใหม่นี้ จะมีผลให้ ไม่อนุญาตการใช้พลาสติกพอลิคาร์บอเนตมาทำเป็นขวดนม รวมทั้งภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็ก สำหรับวัสดุที่อนุญาตให้ใช้มีดังนี้ ขวดนม และภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็กแบบใช้ซ้ำ เช่น ถ้วยหัดดื่ม วัสดุที่อนุญาต ได้แก่ แก้วชนิดบอโรซิลิเคต และพลาสติกชนิดพอลิพรอพิลีน พอลิอีเทอร์ซัลโฟน ภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็กแบบใช้ครั้งเดียว เช่น ถุงพลาสติกที่ใช้เก็บน้ำนมมารดา ถุงพลาสติกบรรจุนมแบบใช้ครั้งเดียวที่ต้องใช้ร่วมกับขวดนม วัสดุที่อนุญาต ได้แก่ พอลิพรอพิลีน และพอลิเอทิลีน หัวนมยางวัสดุที่อนุญาตได้แก่ ยางธรรมชาติ ยางสังเคราะห์ สำหรับวัสดุชนิดอื่นที่ประกาศยังไม่กำหนด ต้องมายื่นให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาพิจารณาตามเอกสารหรือหลักฐานที่กำหนดไว้ ในประกาศฯ ทั้งนี้ประกาศฯ ดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม 132 ตอนพิเศษ 28 ง ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 1 สิงหาคม 2558 เป็นต้นไปรองเลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด