อย. ลงพื้นที่ ติดตามคุณภาพการผลิตเกลือบริโภค
29 เมษายน 2558

     อย. มุ่งมั่นพัฒนาการจัดทำระบบประกันคุณภาพและควบคุมคุณภาพการผลิตเกลือบริโภค อย่างต่อเนื่อง ลงพื้นที่ ติดตามคุณภาพการผลิตเกลือบริโภค ณ โรงงานเกลือเพชรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร และโรงงานปึงเป้งน้ำ จังหวัดเพชรบุรี พบเกลือบริโภคมีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้ง  จัดอบรมให้คำแนะนำการจัดทำระบบประกันคุณภาพและควบคุมคุณภาพการผลิตเกลือบริโภค แก่ผู้ประกอบการเกลือและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ เพื่อให้การผลิตเกลือบริโภคมีระบบการผลิต ที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน

     นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นำทีมเจ้าหน้าที่ อย. ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการผลิตเกลือบริโภค พร้อมทั้งติดตาม  การผลิตและให้คำแนะนำการจัดทำระบบประกันคุณภาพและควบคุมคุณภาพการผลิตเกลือบริโภค ณ โรงงานเกลือเพชรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร และโรงงานปึงเป้งน้ำ จังหวัดเพชรบุรี โดยโรงงานเกลือเพชรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เป็นสถานที่ผลิตเกลือบริโภคขนาดกลาง กำลังการผลิต 5,000 ตันต่อปี มีนายวิมล ปวงกิจจา นำเยี่ยมชม การผลิตและการควบคุมคุณภาพเกลือบริโภค จากการสุ่มตัวอย่างเกลือบริโภคแบบป่น พบเกลือบริโภค มีคุณภาพมาตรฐานตามกฎหมาย (20-40 มก.ต่อ กก.) ส่วนโรงงานปึงเป้งน้ำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นสถานที่ผลิตเกลือบริโภคขนาดใหญ่ มีกระบวนการผลิตเป็นแบบต่อเนื่อง  กำลังการผลิตมากกว่า 7,000 ตันต่อปี โดยมี นายเทียนชัย ปิติพัฒนะโฆษิต และนายอรรถพล ปิติพัฒนะโฆษิต นำเยี่ยมชมการผสมเกลือบริโภคเครื่องผสมแบบต่อเนื่อง ตลอดจนการควบคุมคุณภาพการผลิตจากการสุ่มตัวอย่างเกลือบริโภคแบบป่น พบเกลือบริโภคมีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด

      รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า อย. มีการติดตามการผลิตและการควบคุมคุณภาพ   เกลือบริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าสถานที่ผลิตเกลือบริโภคมีระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพและเกลือบริโภคมีคุณภาพตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเลือกบริโภคเกลือที่มีฉลาก  ระบุชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร (เลข อย. 13 หลัก) ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือนำเข้า วันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ พร้อมทั้งระบุข้อความว่า “เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน” และ “ควรเก็บในที่ร่มและแห้ง” เป็นต้น สำหรับผู้ที่จำกัดการบริโภคไอโอดีนควรบริโภคเกลือบริโภคที่มีข้อความว่า “เกลือบริโภคไม่เสริมไอโอดีน” หรือ “เกลือบริโภคสำหรับผู้ที่จำกัดการบริโภคไอโอดีน”

แท็กที่เกี่ยวข้อง
ไพศาล ดั่นคุ้ม
เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน
ควบคุมคุณภาพการผลิตเกลือบริโภค
จัดทำระบบประกันคุณภาพ