อย. ห่วงใย แนะวิธีใช้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุงอย่างถูกต้อง รับมือยุงลาย ภัยร้ายหน้าฝน
3 มิถุนายน 2558

          ย่างเข้าหน้าฝน อย. ห่วงใยผู้บริโภค แนะนำวิธีเลือกซื้อและวิธีใช้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุงอย่างถูกต้อง เพื่อความปลอดภัย โดยผลิตภัณฑ์ไล่ยุงชนิดที่ใช้สารเคมี บนฉลากต้องระบุเลขทะเบียน อย. วอส. ในกรอบเครื่องหมาย อย. หากเป็นผลิตภัณฑ์ไล่ยุงที่ใช้น้ำมันตะไคร้หอม บนฉลากต้องระบุเลขที่รับแจ้ง ผู้ใช้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ควรอ่านฉลากและปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด

          ภก. ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และในฐานะโฆษก อย. เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใยผู้บริโภค เนื่องจากขณะนี้กำลังเข้าสู่ช่วงฤดูฝน เป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค วิธีเบื้องต้นที่จะป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออกได้นั้น คือต้องระมัดระวังไม่ให้โดนยุงกัด หนึ่งในวิธีการป้องกันยุงลายอย่างง่าย คือการใช้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุง นิยมใช้ในรูปแบบการทาหรือฉีดพ่นผิวหนัง ออกฤทธิ์โดยการ ไปรบกวนกลไกการรับรู้กลิ่นของยุง จึงสามารถใช้ในการไล่ยุงแต่ไม่สามารถฆ่ายุงได้

          ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการไล่ยุง จัดเป็นวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ อย. โดยสารออกฤทธิ์ไล่ยุงที่พบบ่อย ได้แก่ ดีอีอีที (DEET), เอทิล บิวทิลอะซีทิล อะมิโนโพรไพโอเนต (Elthyl butylacetyl aminopropionate), อิคาริดิน (Icaridin) และน้ำมันตะไคร้หอม (Citronella oil) ซึ่งมีวิธีการเลือกซื้อที่แตกต่างกันตามชนิดของสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์ดังนี้ ผลิตภัณฑ์ไล่ยุง ที่มีสาร DEET, Icaridin, Elthyl butylacetyl aminopropionate ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. ดังนั้น ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ฉลากมีการแสดงเลขทะเบียน อย. วอส. ในกรอบเครื่องหมาย อย. และแสดงระยะเวลาในการป้องกันยุง ส่วนผลิตภัณฑ์ไล่ยุงที่มีน้ำมันตะไคร้หอมหรือ citronella oil เป็นสารออกฤทธิ์ในการไล่ยุง ไม่ต้องขอขึ้นทะเบียนแต่ต้องแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่อ อย. จึงควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีการแสดงเลขที่รับแจ้งบนฉลาก ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพควรมีฤทธิ์ในการไล่ยุงลายบ้านได้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง

          รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า การใช้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุงเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ยุงกัดแต่ผู้ใช้ควรใช้อย่างระมัดระวัง ควรอ่านฉลากและปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด ควรเก็บผลิตภัณฑ์ในที่มิดชิด ห่างจากเด็ก อาหาร และสัตว์เลี้ยง ควรปิดฝาให้สนิทและอย่าให้ถูกแสงแดด  เปลวไฟ หรือความร้อน  ห้ามรับประทาน ผลิตภัณฑ์ไล่ยุงส่วนใหญ่ ห้ามใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี      (แต่อาจต่ำกว่า 4 ปีได้ ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์) สำหรับผลิตภัณฑ์ไล่ยุงประเภทแป้งหรือโลชั่น ห้ามนำไปทาแทนแป้งหรือโลชั่นทั่วไป ควรใช้เฉพาะที่เมื่อจำเป็นเท่านั้น อย่าใช้ติดต่อกันเป็นประจำ ก่อนใช้ ควรทดสอบการแพ้ โดยการทาหรือพ่นที่บริเวณข้อพับแขน หากไม่เกิดอาการแพ้ หรือระคายเคือง จึงใช้บริเวณอื่นได้ อย่าทาบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น บริเวณใกล้ตา ริมฝีปาก เปลือกตา รักแร้ หรือทาบริเวณแผล และล้างมือทุกครั้งหลังใช้ผลิตภัณฑ์

           ทั้งนี้ หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา E-mail :toxic@fda.moph.go.th กรณีผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือที่ E-mail : 1556@fda.moph.go.th  หรือตูปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือ ร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสํานักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะดําเนินการปราบปราม และ ดําเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทําผิดต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง
ประพนธ์ อางตระกูล
ผลิตภัณฑ์ไล่ยุง
ดีท (DEET)
โรคไข้เลือดออก
DEET
Icaridin
Elthyl butylacetyl aminopropionate