อย. จับมือ สถาบันโภชนาการ ลงนาม MOU พัฒนาสัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายบนฉลากอาหาร เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
10 กันยายน 2558

อย. สนองนโยบาย รมว.สธ. คุ้มครองผู้บริโภค ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ประชาชนทุกกลุ่มวัย รุดจับมือ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาหลักเกณฑ์ด้านโภชนาการ ให้นำไปสู่การพัฒนาสัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่าย หวังเป้าหมายให้ผู้บริโภคลดการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม พร้อมทั้งลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะโภชนาการเกินและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาและ รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อํานวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ปัจจุบันทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยกำลังรณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases, NCDs) ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือดและภาวะไตวายเรื้อรัง ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวถือเป็นภัยคุกคามในประชากรไทย คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหาร และโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดีจึงได้กำหนดนโยบายให้มีการส่งเสริมการใช้ข้อมูลโภชนาการเพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้อและบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมต่อสุขภาพ และส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ผลิตอาหารปรับสูตรผลิตภัณฑ์ ให้มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีขึ้น ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ จึงได้ร่วมกับ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาหลักเกณฑ์ทางวิชาการด้านโภชนาการ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายซึ่งได้จัดพิธีลงนามในวันนี้ (11 กันยายน 2558) ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร อาคาร 1 ชั้น 1 ตึก อย. ระหว่าง นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อํานวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก ผู้แทนสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส) คณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมการใช้สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่าย และภาคอุตสาหกรรมอาหาร มาร่วมเป็นสักขีพยาน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า อย. มุ่งหวังให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มวัยลดการบริโภคอาหาร หวาน มัน เค็ม อันนำไปสู่การลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะโภชนาการเกินและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยการใช้สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่าย และฉลากโภชนาการ เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสม และนำไปสู่การพัฒนาและส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโภชนาการที่ดีต่อไป พร้อมทั้งเชิญชวนภาคีเครือข่าย และภาคอุตสาหกรรมอาหาร เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่าย ดังกล่าวต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
NCDs
บุญชัย สมบูรณ์สุข
สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่าย