อย. เผยผลงาน 1 ปี ด้านเครื่องสำอางและวัตถุอันตรายตรวจสอบเข้มแข็ง สร้างความมั่นใจ ก้าวไกลสู่สากล
27 ตุลาคม 2558

~~อย. เผยผลงานรอบ 1 ปี การคุ้มครองผู้บริโภคด้านเครื่องสำอางและวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน และทางสาธารณสุข  โดยปรับปรุงระบบการให้บริการ ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นลงทำให้การขออนุญาตรวดเร็วสะดวกขึ้น สร้างความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค อีกทั้งจัดทำคู่มือประชาชนเพื่ออำนวยความสะดวกและความโปร่งใส นอกจากนี้ยังได้ปรับกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ให้ทันต่อสถานการณ์ ช่วยสนับสนุนการประกอบธุรกิจ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและการแข่งขันเข้าสู่ AEC ทั้งสามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้มากขึ้น

~~ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมเศรษฐกิจการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค การพัฒนาระบบงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสากล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขานรับนโยบาย โดยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา (ตุลาคม 2557–กันยายน2558) มีโครงการที่สำคัญคือ โครงการพัฒนาสมุนไพรที่ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร รวมถึงกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยเบื้องต้นได้จัดทำฐานข้อมูลสมุนไพรที่ใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง จำนวน 120 ชนิด สามารถสืบค้นรายชื่อสมุนไพรเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการจดแจ้ง ปริมาณในการใช้ สาระสำคัญ ที่ได้รับจากสมุนไพรและคุณประโยชน์ในการใช้  พิษวิทยาที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ การตรวจวิเคราะห์หาสมุนไพรในเครื่องสำอาง และราคาของสมุนไพร เป็นต้น มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาสารสกัดหรือน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรที่ใช้ในเครื่องสำอางที่คาดว่ารายได้สูงคือ มะขาม มะรุม มะพร้าว มะหาด ทับทิม มังคุด บัวบก หม่อน และ กวาวเครือขาว เพื่อพัฒนาสูตรของเครื่องสำอางให้~~ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาหน่วยตรวจวิเคราะห์สมุนไพรที่ใช้ในเครื่องสำอางทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ให้สามารถวิเคราะห์สมุนไพรได้มากขึ้น เพื่อความปลอดภัยและรับรองสมุนไพรเพื่อการส่งออกอีกด้วยต่อมาคือโครงการพัฒนายกระดับแบรนด์เครื่องสำอางผสมสมุนไพรไทย ซึ่ง อย. ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ศึกษาวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเครื่องสำอางผสมสมุนไพรไทยของผู้ประกอบการด้านมาตรฐานการผลิตและศักยภาพในด้านการตลาดและการค้าทั้งในและต่างประเทศ และสำรวจความพร้อมและศักยภาพของผู้ประกอบการ รวมถึงวิเคราะห์ทิศทางและแนวโน้มของการนำเข้า-ส่งออก เครื่องสำอางผสมสมุนไพรของไทย ภายใต้ประชาคมอาเซียน (AEC) เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาผู้ประกอบการเครื่องสำอางที่จะสนับสนุนให้มีการผลิตเครื่องสำอางส่งออกเพื่อเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์สุขภาพนานาชาติในระดับสากล และจัดทำตราสัญลักษณ์ เพื่อมอบให้ผู้ประกอบการต่อไป
      นอกจากนี้ ยังมีผลงานสำคัญคือ ได้พิจารณากลั่นกรองผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางก่อนออกสู่ตลาดมากกว่า 150,000 ตำรับต่อปี และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการจดแจ้งให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยแบ่งความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเป็นกลุ่มความเสี่ยงต่ำ เช่น สบู่ แชมพูสระผม เป็นต้น สามารถจดแจ้งทางออนไลน์เข้าสู่ระบบการจดแจ้งอัตโนมัติที่กลั่นกรองด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือหากเป็นกลุ่มความเสี่ยงสูง เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า/ผิวกาย จะพิจารณารับจดแจ้งโดยเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้จะใช้เวลาไม่เกิน 3 วันทำการ และใน ปี 2559 จะพัฒนาระบบการจดแจ้งเป็นระบบการจดแจ้งอัตโนมัติทั้งหมด
     รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนและทางสาธารณสุขนั้นมีโครงการสำคัญ  คือ โครงการสำรวจสถานที่ผลิตวัตถุอันตราย และผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่ผลิตในชุมชน โดยร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศสำรวจและตรวจสถานที่ผลิตจำนวน 278 แห่ง พบว่าสถานที่ผลิตส่วนใหญ่ยังไม่เหมาะสม ต้องได้รับการพัฒนาและปรับปรุง ส่วนผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ วัตถุอันตรายที่ผลิตชุมชน 404 รายการ พบว่าส่วนมากแสดงฉลากยังไม่ถูกต้อง ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้าให้กับสถานประกอบการวิสาหกิจชุมชนขนาดกลาง หรือขนาดย่อม  ในปี 2559 นี้จึงมีโครงการพัฒนาผังโรงงานต้นแบบสำหรับสถานที่ผลิตวัตถุอันตรายขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปใช้เป็นแนวทางในการแนะนำให้ผู้ผลิตวัตถุอันตรายขนาดกลางและขนาดย่อมปรับปรุงและพัฒนาสถานที่ผลิตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เหมาะสม และปลอดภัย นอกจากนี้ด้านการอนุญาตเกี่ยวกับวัตถุอันตราย  ได้พัฒนาปรับปรุงระบบการให้บริการ ให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส และเป็นธรรมโดยปรับลดขั้นตอนและระยะเวลาการให้บริการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนวัตถุอันตราย ในกรณีที่การแก้ไข ไม่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพคุณภาพและความปลอดภัยจากเดิม 50 วันทำการ เป็น 20 วันทำการ
      รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า อย. ได้มีการดำเนินการตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก ในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 จัดทำคู่มือสำหรับประชาชนในการยื่นขออนุญาต  ด้านเครื่องสำอาง 10 ฉบับด้านวัตถุอันตราย จำนวน 35 ฉบับรวมไปถึงการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC ยกระดับแบรนด์เครื่องสำอางผสมสมุนไพร และการจัดทำโครงการศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุขของประเทศไทย นอกจากนี้ อย.ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบการจดแจ้งอัตโนมัติสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทุกชนิดและสำหรับผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายฯ บางชนิดอีกด้วย
 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง
ประพนธ์ อางตระกูล
โครงการพัฒนาสมุนไพรที่ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง